Methyl mercury บทเรียนสารเคมี ที่เป็นข่าวระดับโลก

สารเคมีที่เป็นข่าวระดับโลก ได้ชื่อมาจาก โรคมินามาตะ ซึ่งมาจาก อ่าวมินามาตะ ตั้งอยู่บนเกาะคิวชูทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น มีอ่าวมินามาตะเป็นส่วนหนึ่งของทะเลชิรานุย (Shiranui Sea) โดยสารเคมีที่ว่าเป็นข่าวระดับโลกนี้ ทำให้โลกตะหนักและเริ่มใส่ใจเรื่องสารเคมีในแง่สภาพแวดล้อมมากขึ้น

 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1908 โดยเริ่มต้นที่โรงงาน Chisso ซึ่งเปิดทำการผลิตปุ๋ย ต่อมาขยายเป็นอุตสาหกรรมเคมีผลิต acetate, acetaldehyde, acetic acid, vinyl chloride ฯลฯ ในกระบวนการผลิต acetaldehyde มีการใช้ mercuric sulfate เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ปฏิกิริยาข้างเคียงที่เกิดขึ้นไปทำให้เกิด methyl mercury ซึ่งเป็นสารพิษไปอยู่ในน้ำทิ้งที่ระบายสู่ทะเล

สำหรับ สารปรอท (Methyl mercury) หรือ methyl-mercury อ่านว่า (เมธ-ธิล-′เมอ-ร-คิวรี่) เมทิลเมอร์คิวรี่ หรือ ปรอทเมทิล ซึ่งคือสารเคมีที่เป็นพิษเกิดจากสารอินทรีย์เช่นแบคทีเรียทำปฏิกิริยากับสารปรอทในน้ำ ในดิน หรือในพืช ในความหมายโดยทางวิทยาศาสตร์ methyl mercury คือ ปรอทเจือปนสารอินทรีย์ มีสูตรทางเคมีว่า CH3Hg

ทะเลชิรานุยและอ่าวมินามาตะนั้นเป็นทะเลที่เงียบสงบ สวยงาม อุดมด้วยปลาและสัตว์น้ำนานาชนิด ชาวประมงใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อจับปลาที่มีอยู่มากมาย แม้แต่ไม่ต้องมีเครื่องมือก็ยังทำมาหากินได้ ดังที่ปรากฏว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่จับหอยบนหาดและเก็บสาหร่ายทะเลไปขายเป็นอาชีพหลัก มินามาตะจึงนับเป็นเขตอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญเขตหนึ่งของญี่ปุ่น ก่อนที่จะเกิดเรื่องราวอีกบทหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับโรคร้าย ซึ่งกลายเป็นโศกนาฏกรรมและสร้างความทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัสให้กับผู้คนทั้งอดีต รวมถึงปัจจุบันนับพันนับหมื่นชีวิตเอาไว้ “โรคมินามาตะ” โรคร้ายที่ถูกตั้งชื่อตามชื่อเมืองและเป็นข่าวโด่งดังในระดับโลก

Minamata Bay

โรคมินามาตะ โรคประหลาดที่ในภายหลังหลักฐานมากมายชี้ชัดว่าเป็นโรคที่เกิดจากมลพิษของ methyl mercury อันเป็นสารประกอบอินทรีย์ของปรอท ที่ส่งผลทำให้ผู้ได้รับพิษมีอาการป่วยจากการที่สมองส่วนกลางถูกทำลาย โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวมินามาตะนั้น เกิดจาก methyl mercury ปนเปื้อนผ่านน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ระบายทิ้งลงสู่อ่าว ทำให้ปริมาณปรอทที่สูงนั้น สามารถพบได้ตลอดชายทะเลชิรานุย โดยเฉพาะในเขตมินามาตะ ซึ่งสารพิษเหล่านั้นได้เข้าไปสะสมอยู่ในตัวสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็นปลาและหอยที่ชาวประมงจับขึ้นมาขายและรับประทาน ก่อให้เกิดโรคร้ายทำให้ชาวมินามาตะต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่สมองถูกทำลาย

แม้นับถึงปัจจุบันเหตุการณ์เลวร้ายนี้จะผ่านระยะเวลามามากกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ชาวมินามาตะยังต้องเผชิญกับทั้งความทรมานที่เกิดขึ้นกับร่างกายและบาดแผลในจิตใจมาโดยตลอด โดยในปี 2552 หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นตรากฎหมายพิเศษสำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคมินามาตะ มีผู้ป่วยที่ยื่นใบสมัครเพื่อรับมาตรการเยียวยามากถึง 58,000 ราย โดยก่อนหน้านี้ มีเรื่องราวการยื้อเวลายาวนานกว่าจะค้นพบถึงสาเหตุและการรับผิดชอบ ระหว่าง ภาครัฐ – ภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม ถึงข้อสรุปความเสียหายและการได้รับการชดเชย

นอกจากนี้ ทั่วโลกยังตะหนักถึงพิษภัยของสารปรอท และได้มีการทำอนุสัญญา Minamata on Mercury ขึ้นในช่วงต้นปี 2556 เป็นสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ จำกัด มลพิษของสารปรอททั่วโลก ทั้งนี้ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีภาคีสมาชิกกว่า 112 ประเทศเข้ารวม แต่ถึงแม้ว่าหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาครัฐอื่น ๆ ทั่วโลก จะหันมาให้ความสำคัญและพยายามจำกัดมลพิษดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ล่าสุดมีงานวิจัยที่สร้างความกังวลใจเกี่ยวกับการแพร่กระจายของสารพิษร้ายแรงนี้ ซึ่งมีเส้นทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ในการจะส่งผลกระทบต่อสมองของมนุษย์ โดยผ่านตัวแปลที่สำคัญ คือ มลพิษทางทะเลจาก “ขยะพลาสติก”

Dr. Carl Lamborg ศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์มหาสมุทรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานตาครูซ กล่าวว่า “ความเข้มข้นของสารปรอทในระดับพื้นผิวของมหาสมุทรในปัจจุบันนั้น น่าจะมีปริมาณสูงกว่าเมื่อ 500 ปีที่แล้ว มากถึงสามหรือสี่เท่า” 

เมทิลเมอร์คิวรี่ สามารถเดินทางเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางห่วงโซ่อาหาร จากสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุดในระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งได้แก่ แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ไปสู่สัตว์ทะเล สู่ปลา และสู่อาหารทะเลในจานของมนุษย์ และในท้ายที่สุดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ซึ่งอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร

Dr. Katlin Bowman นักวิชาการวิจัยหลังปริญญาเอกที่ UCSC กำลังค้นคว้าว่า สารปรอทเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้อย่างไร ซึ่งพบว่าปรอทในมหาสมุทรจะกลายเป็น methyl mercury ซึ่งเป็นองค์ประกอบอินทรีย์ และมันเป็นสิ่งที่อันตรายมากเพราะสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้อย่างง่ายดาย โดยสารพิษโลหะหนักร้ายแรงนี้จะยึดติดกับพลาสติกในน้ำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลพิษปรอท โดยกลายสภาพเป็น “อาหารปลา” ที่มีสารพิษเข้มข้นและเป็นอันตราย

“พลาสติกมีประจุเป็นลบ ในขณะที่ปรอทมีประจุเป็นบวก ดังนั้นพวกมันจึงดึงดูดให้สารปรอทที่อยู่ในน้ำเกาะติดเข้ากับขยะพลาสติก” Dr. Katlin Bowman กล่าว

และยิ่งขยะพลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก ก็ยิ่งมีการปนเปื้อนเมทิลเมอร์คิวรี่ในระดับที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นผิวที่มากขึ้นของไมโครพลาสติกยิ่งทำให้ดักจับอนุภาคสารพิษได้มากขึ้นหลายเท่าและเกาะแน่นยิ่งขึ้น

Plastic-Sea

bigail Barrows นักวิทยาศาสตร์วิจัยทางทะเลจาก College of the Atlantic กล่าวว่า ไมโครพลาสติกนั้นถูกกำหนดให้เป็นชิ้นส่วนของพลาสติกที่มีขนาดน้อยกว่าห้ามิลลิเมตร ซึ่ง “พวกมันครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด” รวมถึง microbeads ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และไมโครไฟเบอร์ที่แตกหักจากเสื้อผ้า เมื่อถุงพลาสติก ขวด และเครื่องใช้ต่างๆ เสื่อมสภาพลง และเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งหมดนั้นก็จะกลายเป็นไมโครพลาสติก

“ถ้าไมโครพลาสติกสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเมทิลเมอร์คิวรี่ได้แล้ว ไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอาจเพิ่มปริมาณของสารปรอทที่สะสมอยู่ในปลาทางอ้อม” Bowman กล่าว

โดยแนวคิดหลักสองข้อ ที่ทำให้ผลกระทบของเมทิลเมอร์คิวรี่แย่ลง นั่นคือ การสะสมทางชีวภาพ และ การทำให้เป็นแบบชีวภาพ เพราะด้วยการสะสมทางชีวภาพ เมทิลเมอร์คิวรี่จะไม่สามารถถูกกำจัดออกจากร่างกายได้ และมันจะถูกสะสมอยู่ในร่างกายตลอดช่วงชีวิตของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ

Dr. Nicholas Fisher ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Stony Brook, New York กล่าวว่า ยิ่งปลามีอายุยืนยาวนานขึ้นเท่าไหร่ มันก็กินปรอทในอาหารมากเท่านั้น ปรอทจะถูกสะสมและก็ไม่สูญเสียไป ดังนั้นมันจึงมีปรอทในระดับสูงมากในเนื้อเยื่อ “เมทิลเมอร์คิวรี่ ยังเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ซึ่งหมายความว่า ความเข้มข้นของเมทิลเมอร์คิวรี่นั้นจะยิ่งมีสูงกว่าในตัวสัตว์นักล่า เมื่อเทียบกับที่มีอยู่ในสัตว์ที่เป็นเหยื่อ”

ตามการบรรยายสรุปประเด็นปัญหาสารปรอทของคณะกรรมาธิการยุโรป ในปี 2555 มีเมทิลเมอร์คิวรี่มากกว่า 100,000 เท่าเก็บไว้ในเนื้อเยื่อของพวกมัน เมื่อเปรียบเทียบสัตว์ทะเลอื่นๆ ในน่านน้ำโดยรอบ

Lamborg กล่าวว่า เมทิลเมอร์คิวรี่จะเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างอากาศและมหาสมุทรได้อย่างง่ายดายมาก เพราะในขณะที่สารพิษนี้หมุนเวียนผ่านสภาพแวดล้อมในระดับปกติ แต่พลาสติกกลับทำหน้าที่เป็นดั่งแม่เหล็กที่ทำหน้าที่ดูดปรอทและยืดอายุของสารพิษนี้ในทะเล จากนั้นส่งผ่านสารพิษนี้ผ่านแพลงก์ตอนไปสู่ปลาและสัตว์ทะเล เมื่อมนุษย์กินอาหารทะเล ก็เหมือนการกินเมทิลเมอร์คิวรี่เข้มข้นเช่นกัน

พิษของปรอทกับความผิดปกติของโรคมินามาตะ

โลหะหนักในรูปสารประกอบอินทรีย์สามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ และเนื่องจากไม่ละลายในน้ำ ที่ๆสารปรอทมักจะไปสะสมอยู่นั่นคือบริเวณก้อนไขมันในสมอง ซึ่งเมื่อแพทย์ได้ตรวจสอบสมองของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมินามาตะ สมองของผู้ป่วยนั้นจะพรุนคล้ายฟองน้ำ ส่วนที่เนื้อสมองหายไปนั่นคือส่วนที่ถูกทำลายด้วยสารปรอท ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมินามาตะก็คือผู้ที่ป่วยจากการที่สมองถูกทำลาย เริ่มแรกมีอาการชาที่มือและเท้า อาการลามขึ้นไปถึงแขน ขา และริมฝีปาก ต่อมาม่านตาหรี่เล็กลง จิตใจรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย พูดช้าและไม่เป็นภาษา ฟังไม่ได้ยิน การใช้มือ เท้า และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆไม่สัมพันธ์กันจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น การดื่มน้ำจากแก้ว การติดกระดุม หรือการเขียนหนังสือ เป็นต้น อาการแขน ขา มือ เท้า สั่น และชักกระตุกจะปรากฏให้เห็นได้ชัด ในรายที่อาการหนักมากอาจควบคุมสติไม่ได้ และพูดตะโกนไม่เป็นภาษา มีอาการวิกลจริตอย่างอ่อน ๆ กรีดร้อง มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง

เมื่อมีอาการแสดงออกมาแล้วย่อมไม่มีทางที่จะรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงแค่ประคองอาการไว้และรอวันเสียชีวิตเท่านั้น ปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 60 ปีแล้วนับจากเหตุการณ์โรคมินามาตะ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้ป่วยก็ยังคงมีอยู่ ผู้ที่ได้รับสารปรอทเยอะก็จะเสียชีวิตเร็ว ส่วนผู้ที่ได้รับน้อยก็ยังคงมีชีวิตอยู่พร้อมความพิการ โดยเป็นภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก

Minamata disease

การต่อสู้และการสร้างชีวิตใหม่ของชาวเมืองมินามาตะ

แม้จะใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก สุดท้ายภาคประชาชนก็ได้ทำเรื่องฟ้องร้องบริษัทชิสโซะ ต่อศาลจังหวัดคุมาโมโตะในปี 1968 ซึ่งต่อมาในปี 1973 ศาลก็ได้ตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ชาวเมืองราว 158 ล้านบาท (การจ่ายค่าเสียหายนี้ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน) คดีนี้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ถูกกล่าวถึงในฐานะคดีที่เป็นชัยชนะขั้นสูงสุดของชาวบ้านตาดำ ๆ คนธรรมดา ถือเป็นกรณีศึกษาให้กับชาติอื่น ๆ รวมถึงกรณีที่เกี่ยวกับกฎระเบียบการควบคุมมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดของไทยเราด้วย จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมขั้นตอนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณที่จำกัด

หลังจากที่ต้องเผชิญกับวิกฤติมลพิษอย่างหนักจนส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต มีผู้คนเสียชีวิตไปหลายพันคน โดยเฉพาะพวกเด็กๆ และยังต้องใช้เม็ดเงินฟื้นฟูอีกหลายแสนล้านเยน ต้องลงทุนปิดอ่าวมินามาตะถึงกว่า 23 ปี แล้วขุดลอกตะกอนใต้น้ำเพื่อนำไปฝังกลบบนพื้นที่กว่า 58 เฮคเตอร์ (362.5 ไร่) ทุกวันนี้ เมืองมินามาตะจะสามารถพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง พิสูจน์ได้จากรางวัลเมืองที่โดดเด่นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ในการประกวดเมืองแห่งสิ่งแวดล้อมปี 2005 – 2006 ในวันนี้ มินามาตะกลายเป็นเมืองที่ประชากรใส่ใจ และระมัดระวังกับเรื่องสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก จนได้รับการรับรองเป็นเมือง Eco-Town อีกด้วย นับเป็นฟ้าหลังฝนที่ปลอบใจชาวเมืองจากเรื่องร้าย ๆ ได้เป็นอย่างดี

Raw-fish-market

ภัยพิบัติอ่าวมินามาตะ ได้บอกเล่าเรื่องราวผลกระทบอันน่าสะพรึงกลัวของพิษสารปรอท และแม้ EPA และหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ ได้ผ่านกฎระเบียบมาตั้งแต่ปี 1970 เช่น พระราชบัญญัติน้ำสะอาด และพระราชบัญญัติการดื่มน้ำอย่างปลอดภัย ซึ่งได้ผลักดันช่วยลดการปล่อยปรอทในน้ำผิวดินอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม จากรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในปี 2558 มีพลาสติกมากถึงแปดล้านเมตริกตันที่เข้าสู่มหาสมุทรในแต่ละปี นั้นจึงทำให้มั่นใจได้ว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวเนื่องกับ Methyl mercury ด้วย

“การผลิตพลาสติกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า” Barrows กล่าว “ดังนั้นฉันคิดว่า นั่นเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องให้ความสนใจ ในแง่ของการกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของเรา”

AMARC ให้บริการตรวจทดสอบรายการ Methyl mercury รายละเอียดดังนี้

1. รับทดสอบในตัวอย่าง สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์, สาหร่ายและผลิตภัณฑ์
2. ค่า LOD = 0.01 mg/kg และ LOQ = 0.03 mg/kg
3. ราคา 3,500 บาท
4. ระยะเวลาวิเคราะห์ 7 วันทำการ
5. ปริมาณตัวอย่างไม่น้อยกว่า 100 กรัม

และให้บริการตรวจหา Microplastic ปนเปื้อน รายละเอียดดังนี้

1. ทดสอบการปนเปื้อนในสัตว์น้ำ, น้ำ, ตะกอนน้ำ, ตะกอนดิน
2. ราคา 1,500 บาท
3. ระยะเวลาวิเคราะห์ 7 วันทำการ
4. ปริมาณตัวอย่างไม่น้อยกว่า 1,000 กรัม หรือปริมาตรน้ำ 1 ลิตร

หากท่านสนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ AMARC