หนึ่งตัวช่วยก่อนตัดสินใจบริโภค “กราโนล่า”

ถ้าพูดถึงอาหารเช้าหลายๆท่านคงนึกถึง โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นส่วนใหญ่ หรืออาหารเช้าตะวันตกแบบ Breakfast เช่น ขนมปัง ไข่ดาว ไส้กรอก เป็นต้น แต่สำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพหรือผู้ที่ไม่มีเวลา อาหารเช้าที่สะดวกที่สุดหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “กราโนล่า” ยิ่งปัจจุบันมีการผลิตเป็นรูปแบบแท่งเพียงแค่ฉีกซองแล้วรับประทานได้เลย หรือเป็นถ้วย เทลงบนโยเกิร์ตหรือจะใส่นมก็พร้อมทานแล้ว มันทั้งสะดวก ง่าย ในเวลาเดียวกัน แล้วความสามารถของอาหารเช้าชนิดนี้มันทำให้อิ่มท้องและมีประโยชน์ต่อร่างกายเราจริงหรือไม่?

 
กราโนล่า มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในสมัยก่อนความหมายของกราโนล่าก็คือธัญพืชที่ผ่านการอบกรอบแล้ว แต่ไม่ใช่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่นิยมกราโนล่า ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ได้มีการอบธัญพืชในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งเรียกว่า “มูสลี่” นั่นเอง โดยกราโนล่าได้ถูกคิดค้นจากแพทย์ในโรงพยาบาลสปาเพื่อสุขภาพแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก เขาได้พัฒนาสูตรโดยการใส่ผลไม้อบแห้งและถั่วจนทำให้คนที่มาใช้บริการสปาของเขาที่นำกลับไปทาน ติดใจในรสชาติและพบว่ามันช่วยทำให้สุขภาพของเขาดีขึ้นได้จริง หลังจากนั้นก็ได้มีการขายต่อลิขสิทธิ์และมีบริษัทอื่น ๆ พัฒนาสูตรของตัวเองขึ้นมาแข่งขันมากมายจนถึงปัจจุบัน

ความคล้ายของกราโนล่าและมูสลี่

มูสลี่กับกราโนล่าจะเหมือนกันตรงที่ทั้งคู่ประกอบด้วยธัญพืช ถั่ว เมล็ดพืช และผลไม้แห้ง เป็นต้น แต่ความแตกต่างหลักจะเป็นการที่ มูสลี่ จะไม่นำธัญพืชไปอบ ในขณะที่ กราโนล่า จะถูกนำไปอบกรอบ และเพิ่มสารให้ความหวานต่างๆ  “กราโนล่า” เป็นชื่อที่ใช้เรียกอาหารสไตล์ตะวันตกประเภทหนึ่ง

ความหมายของ กราโนล่า (Granola) จึงได้บทสรุปคือ การนำเอาธัญพืชที่ไม่ขัดสีมารวมกัน และปรุง แล้วนำไปอบกรอบ หรืออาจใส่ผลไม้แห้ง ถั่วต่างๆลงไป เพื่อเพิ่มรสชาติและคุณค่าทางอาหารได้ ส่วนประกอบหลักคือข้าวโอ๊ตซึ่งมีไฟเบอร์และธาตุเหล็กสูง เมล็ดธัญพืชจะมีไขมันดีซึ่งช่วยบำรุงหัวใจ และลดโคเลสเตอรอลได้ ทั้งนี้การผลิต กราโนล่า อยู่ที่ผู้ผลิตนำวัตถุดิบใดมาใส่ในผลิตภัณฑ์

Granola with fruits

ด้วยส่วนประกอบที่ให้คุณค่าแก่ร่างกาย กราโนล่าจึงเป็นอาหารที่มีพลังงานและคุณค่าทางอาหารสูง ทานแล้วอยู่ท้องนาน เหมาะเป็นอาหารเช้า กราโนล่าจึงกลายเป็นมื้อเช้าโดยอัตโนมัติ อย่างที่เราทราบกันมาจนถึงทุกวันนี้

โดยกราโนล่า 1/3 ถ้วยอาจให้พลังงานสูงถึง 160-200 กิโลแคลอรี และเนื่องจากเป็นธัญพืชไม่ขัดสี ทำให้มีสารอาหารทั้งคาร์โบไฮเดรต, ไขมันจากถั่วเป็นไขมันดี, วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ มีไฟเบอร์สูงจึงมีใยอาหารที่ช่วยระบบขับถ่าย ท้องไม่ผูก โดยทั่วไปนิยมรับประทานกราโนล่าโดยนำไปผสมกับน้ำผึ้ง โยเกิร์ต นม ผลไม้สด ซีเรียลอื่น ๆ เพื่อความอร่อยและมีประโยชน์ที่มากขึ้น หรือแม้กระทั่งนำกราโนล่าไปโรยหน้าของหวานชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและความน่ารับประทาน

ส่วนกราโนล่าบาร์ (Granola Bar) นั้นถูกผลิตขึ้นมาในรูปแบบแท่ง มักเป็นที่นิยมในหมู่คนที่ออกกำลังกายอย่างหนักที่ต้องการได้รับแหล่งพลังงานเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการออกกำลังกาย หรือผู้ที่ต้องการควบคุมอาหาร รับประทานได้ง่าย และประหยัดเวลาในการรับประทานแบบมื้ออาหาร ซึ่งผู้ที่คิดค้นกราโนล่าแบบแท่งขึ้นมาคือ “สแตนลีย์ เมสัน”

แล้วกราโนล่าบาร์ ต่างกับ กราโนล่า หรือไม่ ? คำตอบคือไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตจะใส่ส่วนประกอบอะไรบ้าง

โดยสารอาหารหลักที่ได้จากกราโนล่า

การรับประทานกราโนล่า (แบบคลีน หรือ Classic Granola) ประมาณ ¼ ถ้วย (หรือประมาณ 29 กรัม) จะได้สารอาหารสำคัญๆ ดังนี้

  • พลังงาน 140 แคลอรี
  • ไขมัน 9 กรัม
  • โซเดียม 85 มิลลิกรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม
  • ไฟเบอร์ 3 กรัม
  • น้ำตาล 4 กรัม
  • โปรตีน 3 กรัม

 

คุณค่าทางโภชนาการประกอบด้วย

1. ไฟเบอร์ เนื่องด้วย ธัญพืช ข้าวโอ๊ต และเมล็ดถั่วต่าง ๆ ที่เป็นส่วนผสมหลักของกราโนล่า มันจึงอุดมไปด้วยไฟเบอร์ หรือใยอาหารที่มีส่วนช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร การขับถ่าย ลดอาการท้องผูก ควบคุมระดับน้ำตาลและ โคเลสเตอรอลในเลือด

2. โปรตีน กราโนล่าเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีเพราะมีส่วนประกอบเป็นถั่วและธัญพืชเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโปรตีน โดยเฉพาะในมื้อเช้าจะช่วยให้สามารถควบคุมความหิวระหว่างมื้อได้ดี

3 คุณค่าทางด้าน วิตามิน กราโนล่าจัดเป็นอาหารที่ให้วิตามินสูงโดยเฉพาะวิตามินอี ที่มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ สร้างภูมิคุ้มกันและบำรุงผิวพรรณ และยังประกอบไปด้วยไทแอมีนและโฟเลต ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามิน B มีส่วนช่วย ในการบำรุงหัวใจ ระบบประสาท และกระตุ้นระบบการเผาผลาญ

4. แร่ธาตุ ส่วนผสมของกราโนล่าประกอบไปด้วยแร่ธาตุมากมาย เช่น แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซิงค์ ทองแดง แมงกานีส ธาตุเหล็ก และซีลีเนียม ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงาน ได้ดีขึ้น

นอกจากสารอาหารหลักแล้ว กราโนล่าก็ยังให้อาหารรองที่จำเป็นต่อร่างกายอีกหลายชนิด ซึ่งสารอาหารรองนี้จะขึ้นอยู่กับส่วนผสมในกราโนล่า ไม่ว่าจะเป็นผลไม้อบแห้ง ถั่ว หรือ ธัญพืช ที่ต่างชนิดกัน ส่วนผสมที่ต่างกันไปนี้ อาจให้สารอาหารรองจำพวก สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอี โฟเลต ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการได้แสดงดังนี้

ประโยชน์ของกราโนล่า

  • อิ่มนานขึ้น กราโนล่าให้ทั้งโปรตีนและไฟเบอร์ ซึ่งเป็นสองสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย การได้รับโปรตีนและไฟเบอร์ในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม จะช่วยให้รู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้นและอิ่มได้นานขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะเมื่ออิ่มนานขึ้น ความอยากอาหารในมื้อต่อ ๆ ไปก็จะน้อยลง ทำให้แคลอรีไม่พุ่งเกินพิกัด
  • มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง จากผลการศึกษาพบว่า มีส่วนช่วยลดความดันโลหิตได้ เพราะกราโนล่ามี ธัญพืช ที่มีประโยชน์มากมายทั้ง ถั่ว ข้าวโอ๊ต เมล็ดแฟลกซ์ ผลไม้อบแห้ง ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้ให้ไฟเบอร์ที่ดีต่อร่างกาย
  • ให้พลังงานแก่ร่างกาย กราโนล่าเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนในระดับที่เหมาะสม และยังเป็นคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานง่าย แกะห่อแล้วกินได้เลย นักกิจกรรมกลางแจ้งอย่าง นักปีนเขา นักเดินป่า จึงมักจะพกกราโนล่าไว้เป็นแหล่งพลังงานชั้นดีที่ช่วยให้มีแรงทำกิจกรรม
  • ดีต่อลำไส้ จากผลการศึกษาพบว่า กราโนล่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพลำไส้ เนื่องจากมีทั้งไฟเบอร์และคาร์โบไฮเดรตที่มีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชั้นดีในลำไส้ให้มากขึ้น เมื่อแบคทีเรียเหล่านี้มีมากขึ้น การย่อยอาหารและการดูดซึมอาหารที่ลำไส้จึงสามารถทำได้ดีขึ้นด้วย
  • ให้สารต้านอนุมูลอิสระ แม้จะเป็นของว่างแต่ก็เป็นของว่างที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีส่วนผสมที่เป็น ธัญพืช หลายชนิด ที่ให้สารอาหารจำพวกสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญ ๆ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของกรดแกลลิก (Gallic Acid) เควอซิติน (Quercetin) ซีลีเนียม (Selenium) และวิตามินอี

 

การทดลองที่อาจเกี่ยวข้องประสิทธิผลของกราโนล่า

 

เนื่องจากกราโนล่าประกอบไปด้วยธัญพืชและผลไม้อบแห้ง ทำให้เกิดความเชื่อว่ามันอาจเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือทดแทนอาหารมื้อหลักได้ในบางครั้ง แต่มีงานค้นคว้าจำนวนหนึ่งที่ทดลองเกี่ยวกับคุณประโยชน์และผลลัพธ์จากการบริโภคกราโนล่าในแง่ต่างๆ แม้ว่าการค้นคว้าในด้านคุณประโยชน์รวมถึงประสิทธิผลของกราโนล่าด้านการลดน้ำหนักและไขมัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ในปัจจุบันกลับมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณประโยชน์ของกราโนล่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อันดับแรกประโยชน์ด้าน “การลดน้ำหนัก” การทดลอง คือ ให้ผู้ทดลองซึ่งเป็นชายและหญิงที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วน จำนวนทั้งสิ้น 131 ราย บริโภคอาหารที่มีน้ำมันทั้ง 2 ชนิดอย่างมัฟฟิน แครกเกอร์ ซุป คุกกี้ และกราโนล่าแบบแท่ง เป็นเวลา 24 สัปดาห์ แล้วทำการตรวจวัดผลหลังการทดลอง

ทั้งนี้ การบริโภคอาหารที่มีน้ำมันไดเอซิลกลีเซอรอล (Diacylglycerol Oil) ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผลิตจากกรดไขมันธรรมชาติจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลาหรือเรพซีด (Canola/Rapeseed) เปรียบเทียบกับอาหารที่ควบคุมปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triacylglycerol Control Oil) เป็นไขมันที่พบได้ทั่วไปจากการรับประทานอาหารประเภทขนมกรุบกรอบ หรือกะทิ เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแข็ง โดยเฉพาะน้ำมันไดเอซิลกลีเซอรอล ที่ถูกทำให้เชื่อว่าอาจช่วยกระตุ้นการลดไขมันและน้ำหนักตัวลงได้ แต่ยังคงไม่มีหลักฐานสนับสนุนเฉพาะที่เพียงพอ ผลการทดลองพบว่า อาหารที่ควบคุมปริมาณแคลอรีทั้งอาหารที่มีน้ำมันไดเอซิลกลีเซอรอลและอาหารที่ควบคุมไขมันไตรกลีเซอไรด์ช่วยลดปริมาณแคลอรีอาหารในกลุ่มทดลองทั้ง 2 กลุ่ม ในขณะที่อาหารที่มีน้ำมันไดเอซิลกลีเซอรอลช่วยลดน้ำหนัก และปริมาณไขมันในร่างกายของผู้ทดลองได้มากกว่าอาหารที่มีน้ำมันควบคุมไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในเชิงการรักษาและควบคุมน้ำหนักตัวในผู้ที่มีภาวะอ้วนต่อไปในอนาคต

ในขณะที่การทดลองที่เกี่ยวข้องกับ “การลดปริมาณไขมันในร่างกาย” ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นชายผู้มีภาวะน้ำหนักเกินจำนวน 6 ราย ให้ผู้ทดลองรับประทานอาหารกลางวันที่แตกต่างกัน 3 กลุ่ม คือ 1. อาหารจานด่วนอย่างเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย รูทเบียร์ที่มีรสหวาน กับน้ำเชื่อมข้าวโพดที่เป็นน้ำตาลฟรุกโตส 2. อาหารที่มีเนื้อวัวออแกนิค อาหารออแกนิค รูทเบียร์ที่มีน้ำตาลซูโครส 3. อาหารที่มีเนื้อไก่งวง แซนด์วิชไก่งวง และกราโนล่าที่ทำจากอาหารออแกนิค และน้ำส้มออแกนิค

ผลการทดลองพบว่า ผู้ทดลองที่บริโภคอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ออแกนิคมีปริมาณไขมันชนิดอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวลดลงกว่าในกลุ่มที่บริโภคเนื้อวัวในรูปอาหารจานด่วน โดยไม่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในการบริโภคอาหารในกลุ่มที่มีไก่งวงและกราโนล่า

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยว่ากราโนล่าอาจมีประสิทธิผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน การทดลองในกลุ่มชายหญิงสุขภาพดีจำนวน 10 ราย โดยให้ผู้ทดลองรับประทานอาหารจำพวกคอนเฟลค ข้าว โยเกิร์ต อาหารแช่แข็ง ขนมปังขาว นม และกราโนล่า ผลการทดลองปรากฏว่า ทั้งการบริโภคอาหารที่ถูกพ่นหรือโรยสารโพลีแซ็คคาไรด์ และการเพิ่มสารชนิดนี้เข้าไปในอาหารกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งกราโนล่า ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดระดับดัชนีน้ำตาลในอาหารลงได้

อย่างไรก็ตาม การทดลองทั้งหมดที่กล่าวมานี้ นี้เป็นเพียงการทดลองเปรียบเทียบประสิทธิผลในอาหารแต่ละชนิด ซึ่งมีกราโนล่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการทดลองเท่านั้น และในบางครั้ง กราโนล่าอาจมีส่วนผสมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงด้วย จึงควรมีการศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนต่อไปเกี่ยวกับประสิทธิผลของกราโนล่า เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพของผู้บริโภคต่อไป

ทว่าการที่กราโนล่ามีส่วนผสมของธัญพืช ถั่ว ผลไม้แห้ง อาจมีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราได้ เช่น แอฟลาทอกซิน หากผู้ผลิตใช้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แอฟลาทอกซิน คือ สารพิษที่ผลิตจากเชื้อราชื่อ Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus มักพบปนเปื้อนในเมล็ดธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดพืชน้ำมัน เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ถั่วลิสง สมุนไพรและเครื่องเทศแห้ง เป็นต้น

สารพิษชนิดนี้เป็นอันตรายเพราะเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ และในอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกัน หากเราได้รับสารพิษชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจำนวนมากหรือแม้จำนวนน้อยๆ แต่ได้รับเป็นประจำอาจสะสมในร่างกายทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย หัวใจและสมองบวมได้ ที่สำคัญมันทนความร้อนได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส นั่นแสดงว่าความร้อนจากการปรุงอาหาร หรือหุงต้มทั่วไป ไม่สามารถทำลายมันได้

Picture of Granola

แล้วเราควรเลือกรับประทานอย่างไร ?

1. ปริมาณน้ำตาล กราโนล่าที่มีวางจำหน่ายกันอยู่ทั่วไปมักจะมีสารให้ความหวานในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป โดยสารให้ความหวานที่ใช้และปริมาณก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ผลิต กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้ให้คำแนะนำถึงการบริโภคน้ำตาลในแต่ละวันว่าเราไม่ควรรับประทานเข้าไปเกิน 10% นั่นคือปริมาณ 200 แคลอรี (calorie) หรือประมาณ 12 ช้อนโต๊ะ (50 กรัม) เทียบกับความต้องการแคลอรีต่อวันปกติทั่วไปคือ 2000 แคลอรี ดังนั้นการแนะนำจึงให้คุณตรวจสอบรายละเอียดบนฉลากอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะกราโนล่าบางชนิดมีอาจน้ำตาลเกือบ 4 ช้อนชา (17 กรัม) มันสามารถทำให้คุณได้รับน้ำตาลจำนวนมากในชามเดียวโดยที่เราไม่รู้ตัว

2. ไขมัน ไขมันที่มักจะถูกเติมลงไปในกราโนลาอาจมาจากสิ่งต่าง ๆ เช่น ถั่วและโอเมก้า 3 ทางที่ดีคือคุณจะต้องเลือกกราโนล่าที่มีไขมันอยู่ประมาณ 2-3 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ตามที่ได้กล่าวในหัวข้อสารอาหารหลักที่ได้จากกราโนล่า) และต้องระวังชนิดของไขมันที่เติมลงไปบางชนิด ซึ่งควรหลีกเลี่ยงพวกน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันพืชเพราะไขมันพวกนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญได้

3. แคลลอรี เมื่อคุณต้องการเลือกซื้อกราโนล่าต้องอย่าลืมที่จะตรวจสอบจำนวนแคลลอรี่ กราโนล่าบางผู้ผลิตหรือบางสูตรสามารถให้พลังงานได้มากถึง 400 แคลอรีต่อหนึ่งมื้อ แต่สำหรับกราโนล่าที่เป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพและที่เราอยากจะแนะนำคือกราโนล่าที่มีแคลอรีประมาณ 200 กิโลแคลอรีต่อหนึ่งหน่วยบริโภคหรืออาจจะน้อยกว่านี้ก็ได้ เพราะถ้าหากคุณได้รับจำนวนแคลอรีมากกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญได้ ร่างกายของเราจะแปรรูปพลังงานเหล่านั้นให้กลายเป็นไขมันส่วนเกินเก็บสะสมตามร่างกายต่อไปได้

4. โปรตีนและไฟเบอร์  กราโนล่าบางชนิดให้ปริมาณโปรตีนและเส้นใยที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งสามารถช่วยให้คุณอิ่มนานขึ้นได้ รับประทานได้อยู่ท้องเหมาะกับการทานเป็นมื้อเช้าที่สุด ตามหลักการแล้วกราโนล่าควรมีไฟเบอร์อย่างน้อย 3-5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

5. โซเดียม โซเดียมถือว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ทำหน้าที่ในการรักษาสมดุลของน้ำและความดันโลหิตในร่างกายของคนเรา แต่การรับโซเดียมไปในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้เช่นกัน ถึงแม้ว่ากราโนล่าอาจจะไม่ได้มีรสเค็มแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบปริมาณของโซเดียมเช่นกัน

6. รสชาติ กราโนล่าที่มีวางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดก็มีด้วยกันหลากหลายรสชาติให้เราเลือก ซึ่งนั่นอาจเป็นข้อได้เปรียบของผู้บริโภค เพราะเราจะได้รับประทานกราโนล่าที่มีรสชาติที่หลากหลายได้ไม่มีเบื่อ แต่เราก็ต้องอ่านฉลากโภชนาการด้วยเช่นกัน หากต้องการเลือกรับประทานกราโนล่าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแนะนำเป็นสูตรที่หวานน้อยหรือสูตรออริจินัลก็จะดีต่อร่างกายที่สุด

บริโภคอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ?

สิ่งที่กราโนล่าจะช่วยทำให้คุณควบคุมน้ำหนักได้ มีเพียงอย่างเดียว คือช่วยในการควบคุมปริมาณในการทานต่อ 1 มื้อให้พอดีกับมื้อเช้า โดยที่ได้รับสารอาหารครบแบบไม่ต้องชั่งตวงมากนัก เมื่อทานรวมกับผลไม้สดและโยเกิร์ต หรือนมแล้ว แคลอรีไม่เยอะเกินไปสำหรับ1 มื้อ โดยที่อยู่ท้องนาน และตอนเช้าจะขับถ่ายง่ายขึ้นเพราะไฟเบอร์สูงมาก กราโนล่าเป็นอาหารที่ประกอบไปด้วยธัญพืชและผลไม้อบแห้งที่หลากหลาย ในบางครั้งผู้ผลิตก็มีส่วนผสมอื่นๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ ความน่ารับประทาน และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการรับประทาน ดังนั้น คุณสมบัติและคุณประโยชน์ของกราโนล่าจึงขึ้นอยู่กับส่วนผสมและปริมาณของส่วนผสมต่าง ๆ ในกราโนล่าแต่ละชนิดและผลิตภัณฑ์ด้วย ผู้ผลิตจึงควรใส่ใจในมาตรฐานการผลิตอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

เมื่อไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดในการกำหนดปริมาณและประสิทธิผลของกราโนล่า ผู้บริโภคจึงควรสังเกตและศึกษาข้อมูลทางโภชนาการด้านสารอาหาร ปริมาณ และส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์นั้นจากฉลากบนบรรจุภัณฑ์ และรับประทานกราโนล่าในปริมาณที่พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคกราโนล่ามากเกินไป โดยไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำให้บริโภค/วัน

AMARC ให้บริการตรวจวิเคราะห์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กราโนล่า ดังนี้

1. ตรวจวิเคราะห์หามีสารพิษตกค้าง ที่เกิดจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร (Pesticide residue) เช่น สารเคมีกําจัดแมลง (Insecticide) กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine group), กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate group), กลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate group) และสารกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids group) เป็นต้น
2. ตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก เช่น สารหนู (Arsenic), ตะกั่ว (Lead), ปรอททั้งหมด (Mercury) และดีบุก (Tin) เป็นต้น
3. ตรวจวิเคราะห์หาสารพิษจากจุลินทรีย์ เช่น แอฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เป็นต้น
4. ตรวจวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์ เช่น จำนวนจุลินทรีย์ (Total Plate Count), แบซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus), อี.โคไล (Escherichia coli), สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), แซลโมเนลลา (Salmonella spp.), ยีสต์และรา (Yeast & Mold), และคลอสทริเดียม เพอรฟริงเจนส์ (Clostridium  perfringens) เป็นต้น
5. ตรวจวิเคราะห์หาวัตถุเจือปนอาหาร
– ตรวจวิเคราะห์หาวัตถุกันเสีย โปแตสเซียมซอร์เบต (Potassium Sorbate) และโซเดียมเบนโซเอต (Sodium benzoate) เป็นต้น
– ตรวจวิเคราะห์หาสารให้ความหวาน เช่น แอสพาร์เทม (Aspartame) และแซ็กคาริน (Saccharin) เป็นต้น
– ตรวจวิเคราะห์หาสารฟอกสี ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfurdioxide) เป็นต้น

และตรวจวิเคราะห์ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์กราโนล่า ดังนี้

1. ตรวจวิเคราะห์หาไขมันแบบไม่อิ่มตัว (Monounsaturated fatty acid, Polyunsaturated fatty acid)
2. ตรวจวิเคราะห์หากรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acids)
3. ตรวจวิเคราะห์หาแร่ธาตุ เช่น ทองแดง (Copper), เหล็ก (Iron), แมกนีเซียม (Magnesium), แมงกานีส (Manganese), ฟอสฟอรัส (Phosphorus), ซีลีเนียม (Selenium) และสังกะสี (Zinc) เป็นต้น
4. ตรวจวิเคราะห์หาไฟเบอร์ (Dietary Fiber)
5. ตรวจวิเคราะห์หาโปรตีน (Protein)
6. ตรวจวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แบบจีดีเอ (GDA)

สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC

ที่มาข้อมูล : http://bit.ly/3BU5Qfk
: article fav-agoodtime
: bestreview.asia เนื้อหาบทความแนะนำกราโนล่า
: Pobpad
: ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
: Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ
: Scoop Sanook
: Scoop คมชัดลึก