อย่างที่เราเคยทราบกันว่า อาหารหลัก 5 หมู่ คือ กลุ่มอาหาร 5 ประเภทที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็น และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ให้พลังงาน เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานปกติ
โดย โปรตีน จัดให้อยู่ในหนึ่งอาหารหลัก เป็นหนึ่งในขุมพลังสำคัญของร่างกาย ซึ่งโปรตีนนั้นมอบสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย สร้างมาจากกรดอะมิโนพื้นฐานจำนวน 20 ชนิด โดยมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง ถึง 9 ชนิด เราจึงจำเป็นต้องได้รับกรดอะมิโนเหล่านี้จากการรับประทานอาหารที่เรียกว่า โปรตีน เข้าไป
กรดอะมิโนคืออะไร ?
กรดอะมิโน คือ หน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีน ซึ่งจะอยู่ในรูปที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีโปรตีนเข้าไป ร่างกายจะย่อยสลายโปรตีนจนกลายเป็นอะมิโน เมื่อย่อยสลายแล้วร่างกายจึงจะสามารถนำกรดอะมิโนไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้กรดอะมิโนก็ยังเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง เนื้อเยื่อ ฮอร์โมนและเอ็นไซม์อีกด้วย รวมถึงแอนติบอดี (Antibody) ที่จะทำหน้าที่ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายโดยตรง
ชนิดของกรดอะมิโน (Amino Acid)
กรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ กรดอะมิโนที่จำเป็น (Essential amino acids) เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ และต้องเสริมด้วยการรับประทานอาหารเพิ่มเติม กับอีกประเภท คือ “กรดอะมิโนไม่จำเป็น” (Nonessential amino acids) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้
โดยกรดอะมิโนที่จำเป็น มี 9 ชนิดได้แก่
Histidine (His): ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบย่อยอาหาร การนอนหลับ และพัฒนาการทางเพศ
Leucine (Leu): เสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สึกหรอ ฟื้นฟูบาดแผล รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
Isoleucine (Ile): ช่วยในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพลังงานในกล้ามเนื้อและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
Valine (Val): เสริมสร้างการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและการสร้างเนื้อเยื่อใหม่
Threonine (Thr): ช่วยในการเผาผลาญไขมัน และช่วยให้เลือดแข็งตัวป้องกันเลือดออกผิดปกติ
Lysine (Lys): ช่วยสร้างพลังงาน ฮอร์โมน คอลลาเจน รวมทั้งช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน การดูดซึมของแคลเซียม
Methionine (Met): ช่วยในการทำงานของระบบเผาผลาญ การกำจัดสารพิษออกจากร่างกายและการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ
Phenylalanine (Phe): จำเป็นต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมอง รวมถึงมีส่วนสำคัญในโครงสร้างของโปรตีนและช่วยในการผลิตกรดอะมิโนชนิดอื่นๆ
Tryptophan (Try): เป็นสารตั้งต้นในการสร้าง Serotonin ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมความอยากอาหาร การนอนหลับ และอารมณ์ รักษาสมดุลของไนโตรเจนในร่างกาย
สำหรับกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น ที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้ ได้แก่
Alanine (Ala): สร้างเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือด
Asparagine (Asn): ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง
Aspartic Acid (Asp): บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
Glutamic Acid (Glu): กระตุ้นการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงานและส่งเสริมการทำงานของสมองให้ทำงานได้ดีขึ้น
Glutamine (Gln): ซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ พร้อมลดความเมื่อยล้าได้ดี
Proline (Pro): ช่วยส่งเสริมสุขภาพข้อต่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง และช่วยในการเผาผลาญอาหาร
Serine (Ser): จำเป็นสำหรับการเผาผลาญไขมัน การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ
และกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับบางสภาวะของร่างกาย เช่น เจ็บป่วยหรือมีความเครียดสูง
Arginine (Arg): เสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระตุ้นระบบเผาผลาญไขมัน
Cysteine (Cys): ช่วยสังเคราะห์ Glutathione ที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
Glycine (Gly): มีส่วนช่วยในการสังเคราะห์ DNA และ RNA ในการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่
Tyrosine (Tyr): สังเคราะห์สารสื่อประสาท ซึ่งเป็นสารที่จะช่วยดูแลการทำงานของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไตและต่อมไทรอยด์ให้เป็นปกติได้ดี
จะเห็นได้ว่า กรดอะมิโนมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของทุกคน และในทุกช่วงอายุด้วย อีกทั้งร่างกายยังต้องการกรดอะมิโนที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติและเหมาะสม เนื่องจากกรดอะมิโนเกี่ยวข้องกับระบบและกระบวนการหลายอย่างในร่างกาย ตั้งแต่ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ ระบบย่อยอาหาร การเจริญเติบโต การสร้างพลังงาน เป็นต้น นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า การขาดกรดอะมิโนบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายหรือทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาได้ เช่น อาเจียน ไม่อยากอาหาร และอาจรวมถึงภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนแรง หากเกิดขึ้นในเด็ก ก็อาจทำให้มีการเจริญเติบโตช้า เป็นต้น
รู้ได้อย่างไรว่าร่างกายกำลังขาดกรดอะมิโน (Amino Acid)
ปัจจุบันทุกคนใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนมีปัญหาการรับประทานอาหารที่ผิดวิธี ทานอาหารไม่ตรงเวลา ได้รับสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายน้อยลง แม้จะมีข้อมูลความรู้ด้านโภชนาการให้เข้าถึงมากขึ้น แต่กลับไม่สามารถปฏิบัติตามได้ โดยเฉพาะคนในวัยทำงาน ที่ไม่ได้ใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง แต่ไปทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นหลัก
อยากให้ลองสังเกตตัวเองดูว่าเคยเกิดอาการ “ใจพร้อม แต่กายไม่พร้อม” บ้างหรือไม่ ถึงใจอยากจะลุยงานให้เต็มร้อย แต่ร่างกายกลับทั้งอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง บางครั้งยังหงุดหงิดอารมณ์เสียง่ายแบบไม่มีสาเหตุ พาลเบื่อไปหมดทั้งเพื่อนร่วมงานไปจนถึงหัวหน้า บางคนอาการหนักถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เกิดจากร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เราได้รับกรดอะมิโนไม่เพียงพอ เพราะอาการทั้งหลายล้วนมีสาเหตุจากการที่กรดอะมิโนชนิดใดชนิดหนึ่ง มีไม่เพียงพอจนขาดสมดุลนั่นเอง แต่เมื่อใดที่ร่างกายได้รับกรดอะมิโนที่ขาดไป เพิ่มเติมจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาการเหล่านี้ก็จะค่อยๆ หายไป และช่วยทำให้ตื่นเช้ามาอย่างสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย พร้อมเริ่มต้นทำงานได้อย่างราบรื่นตลอดทั้งวัน
ทั้งนี้การเสริมกรดอะมิโนที่จำเป็นให้กับร่างกาย สามารถทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนอย่างหลากหลาย เพื่อให้ได้รับกรดอะมิโนหลากหลายประเภทตามความต้องการของร่างกาย หรืออาจเสริมด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดอะมิโนได้หากจำเป็น
แห่งอาหารที่ กรดอะมิโนจำเป็น มี
สำหรับแหล่งอาหารที่ดีที่สุด ที่ให้กรดอะมิโนจำเป็น คือ โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อวัว สัตว์ปีก อาหารทะเล ไข่ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เต้าหู้ ส่วนผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ สามารถได้รับกรดอะมิโนจำเป็นจากนมถั่วเหลือง เต้าหู้ เมล็ดพืช ธัญพืช ควินัว บัควีท เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่ให้กรดอะมิโนทั้งหมด 9 ชนิดในมื้อเดียว แต่สามารถแบ่งทานเป็นมื้อๆ ได้ตลอดทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม การได้รับสารอาหารที่สมดุลยังคงเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการมีสุขภาพที่ดี ก็จำเป็นต้องได้รับสารอาหารหลักครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ (โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุ) อย่างสมดุล การบริโภคสารอาหารเหล่านี้ในแต่ละวันกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และในหลายประเทศ หากความสมดุลนี้เสียไป เช่น ได้รับสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินความต้องการ ความเสี่ยงต่อโรคอ้วน และโรคที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ก็จะเพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกันกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายทั้ง 9 ชนิด ก็ถูกกำหนดโดยองค์กรระหว่างประเทศ (FAO/WHO/UNU) สิ่งเหล่านี้เรียกว่ารูปแบบการให้คะแนนกรดอะมิโน เช่น กรดแอมิโนจำกัด (Limiting amino acid) หมายถึงกรดอะมิโนจำเป็นชนิดหนึ่งที่มีปริมาณน้อยที่สุดในอาหารชนิดนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณกรดอะมิโนชนิดเดียวกันที่พบในไข่ การขาดกรดอะมิโนจำเป็นบางชนิดในโปรตีน ทำให้การใช้ประโยชน์ของโปรตีนในร่างกายถูกจำกัดไปด้วย เช่น ในธัญชาติ (โปรตีนจากข้าว) มีไลซีนเป็นกรดอะมิโนจำกัด
โดยทั่วไปโปรตีนจากสัตว์เช่นไข่ เป็นโปรตีนคุณภาพดีที่มีคะแนนกรดอะมิโนสูง ในทางกลับกันคะแนนของโปรตีนจากพืช เช่นข้าวสาลี และข้าวโพดนั้นอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับในกลุ่มผู้ประกอบการทางด้านเกษตรอาหาร การทดสอบ Amino Acid นับเป็นปัจจัยสำคัญในการวัดคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร ใช้ในการทดสอบวิเคราะห์ฉลากโภชนาการ และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้แล้วการตรวจวัดปริมาณกรดอะมิโนอิสระยังสามารถเป็นตัวชี้วัดในการติดตาม หรือการพัฒนากระบวนการเกี่ยวกับอาหาร เช่น กระบวนการหมักได้อีกด้วย
AMARC ให้บริการตรวจทดสอบ Amino Acid ดังนี้
บริการทดสอบ Amino Acid ทั้ง 22 ชนิดได้ ในตัวอย่างข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ โดยใช้เครื่อง Amino acid analyzer ระยะเวลาในการวิเคราะห์ 10 วัน
สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC
ที่มาข้อมูล : บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน)
: กรุงเทพธุรกิจ
: Medthai
: Ajinomoto