ฉลากโภชนาการ หลักการและสาระสำคัญจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข
อาหารและฉลากโภชนาการ
ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปมากขึ้นซึ่งการอ่านฉลากก่อนซื้อก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ได้รับสารอาหารตรงตามความต้องการ เนื่องจากฉลากอาหารเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่จะบอกว่าอาหารนั้นผลิตที่ใด มีส่วนประกอบอะไร มีการปรุง การเก็บรักษาอย่างไร ผลิต และ/หรือหมดอายุเมื่อใด มีการใช้สารหรือวัตถุเจือปนชนิดใด รวมถึงคำเตือนที่ควรระวัง และที่สำคัญได้รับอนุญาตหรือผ่านการตรวจสอบจาก อย.หรือไม่ โดยดูจากเครื่องหมาย อย. ซึ่งมีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก อยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. อีกส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคควรให้ความสนใจเนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลที่จะช่วยให้เราดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสมนั่นก็คือ “ฉลากโภชนาการ” นั่นเอง
ความหมายของอาหาร
ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 “อาหาร” หมายความว่า ของกินหรือเครื่องคํ้าจุนชีวิต ได้แก่
1. วัตถุทุกชนิดที่คนกิน ดื่ม อม หรือนําเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ หรือในรูปลักษณะใด ๆ แต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี
2. วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารรวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร สีและเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส หากผู้ใดประสงค์จะผลิตอาหารเพื่อจําหน่าย ต้องได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารจากผู้อนุญาต จากนั้นจึงขออนุญาตรับเลขสารบบอาหารแต่ละผลิตภัณฑ์ต่อไป
ฉลากโภชนาการ คืออะไร ?
ฉลากโภชนาการ คือ ฉลากอาหารที่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารนั้น ๆ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Nutrition Information” ที่ระบุรายละเอียดของชนิดและปริมาณสารอาหารที่มีในอาหารนั้นไว้ โดยมอบประโยชน์นี้ต่อผู้บริโภค เพราะจะช่วยให้ทราบถึงชนิดและปริมาณสารอาหารที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารนั้น ๆ ทำให้เลือกบริโภคอาหารได้ตรงตามภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล และสามารถนำมาเปรียบเทียบ เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อที่ให้ประโยชน์มากที่สุดได้อีกด้วย ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงสารอาหารที่ไม่ต้องการได้ เช่น เป็นโรคไตต้องควบคุมปริมาณโซเดียม หรือไขมันในเลือดสูงต้องควบคุมโคเลสเตอรอล เป็นต้น
ฉลากโภชนาการสำคัญแค่ไหน
หลายคนอาจมองข้าม หรือไม่ได้มองเห็นถึงความสำคัญของฉลากโภชนาการ โดยฉลากโภชนาการนั้นมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเป็นการป้องกันตนเองให้ผู้ประกอบการในด้านของกฏหมายต่างๆ ปัจจุบันฉลากโภชนาการของประเทศไทยได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย จากเดิม ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขใหม่ จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ได้แก่
1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 445) พ.ศ. 2566 เรื่อง ฉลากโภชนาการ
2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 446) พ.ศ. 2566 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ (ฉบับที่ 2)
3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 447) พ.ศ. 2566 เรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก
4. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 448) พ.ศ. 2566 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ฉบับที่ 5)
ซึ่งประกาศฯ ทั้ง 4 ฉบับ ลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป สำหรับผู้ประกอบการที่จัดทำฉลากโภชนาการแบบเดิม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ 2541 เรื่องฉลากโภชนาการ ยังคงผ่อนผันให้ใช้ต่อไปไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม 2570
อาหารชนิดไหนบ้างที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ
สาระสำคัญที่เปลี่ยนไปของฉลากโภชนาการตาม ปสธ. 445
1. รูปแบบกรอบฉลากโภชนาการ ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณะสุข (ฉบับที่ 445) เรื่องฉลากโภชนาการ
1.1 รูปแบบกรอบฉลากโภชนาการ ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณะสุข (ฉบับที่ 445)
จะเห็นว่าเดิมตาม ปสธ.(ฉบับที่ 182) พ.ศ 2541 กำหนดให้แสดงกรอบข้อมูลโภชนาการเป็นแบบเต็ม แสดงรายการสารอาหาร 15 ชนิด หรือกรอบข้อมูลโภชนาการแบบย่อ แสดงรายการสารอาหาร 8 ชนิด เป็นให้แสดงกรอบข้อมูลโภชนาการเป็นแบบมาตรฐานเพียงแบบเดียว โดยแสดงรายการสารอาหาร 9 รายการ และยกเลิกการแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการแบบย่อ
2. เงื่อนไขกรอบฉลากโภชนาการ ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณะสุข (ฉบับที่ 445) เรื่องฉลากโภชนาการ
3. ข้อกำหนดเงื่อนไขการแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณะสุข (ฉบับที่ 445) เรื่องฉลากโภชนาการ
3.1 กำหนดชนิดนิยามของ “หนึ่งหน่วยบริโภค หรือปริมาณที่กินต่อครั้ง ” โดยเน้นใช้คำว่า “ปริมาณที่กินต่อครั้ง”
3.2 กำหนดปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆตามตารางปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ จากเดิม 7 กลุ่มเป็น 14 กลุ่ม พร้อมชนิดอาหาร ตามลักษณะของผลิตภัณฑ์อาหาร หรือลักษณะการบริโภคของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ โดยอ้างอิงจากข้อมูลการบริโภคอาหารของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และข้อกำหนดปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของสหรัฐอเมริกา ได้แก่
- กลุ่มผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์ที่ใช้แทนนม (Dairy products and substitutes)
- กลุ่มเครื่องดื่ม (Beverages)
- กลุ่มอาหารขบเคี้ยว (Snack foods)
- กลุ่มขนมหวาน (Desserts)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (semi- processed food products and ready-to-cook food products)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ นี่ง ทอด (Baked, steamed and fried products)
- กลุ่มธัญพืช ถั่ว เมล็ด และผลิตภัณฑ์ (Cereals, legumes, seeds and products)
- กลุ่มอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภค (Ready-to- eat food products)
- กลุ่มเนื้อสัตว์ ปลา สัตว์น้ำอื่น ๆ ไข่ และผลิตภัณฑ์ (Meat, fish, others aquatic animals,
- กลุ่มผัก (Vegetables)
- กลุ่มผลไม้ (Fruits)
- กลุ่มชอส เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์สำหรับทา และผลิตภัณฑ์ในทำนองเดียวกัน (Sauces, condiments, spread products and other products)
- กลุ่มไขมัน น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ (Fats, oils and products)
- กลุ่มอื่น ๆ (Miscellaneous)
4. ข้อกำหนดเงื่อนไขการแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการตามบัญชีหมายเลข 3 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณะสุข (ฉบับที่ 445) เรื่องฉลากโภชนาการ
4.1 ปรับชื่อ ”ค่าอ้างอิงสารอาหารต่อวันสำหรับคนไทย (THAI REFERENCE DAILY INTAKES-THAI RDIs)” เพื่อเป็นค่ากลางสำหรับอ้างอิงการแสดงคุณค่าทางโภชนาการบนฉลากอาหาร สำหรับคนไทยอายุ 3 ปีขึ้นไป
4.2 ปรับค่าอ้างอิงต่อวันของสารอาหาร
- กำหนดค่าอ้างอิงต่อวัน (Thai RDIs) ของสารอาหารจำนวน 33 รายการ โดยอ้างอิงค่า Nutrient Reference Values (NRVs) ที่กำหนดโดยมาตรฐาน (Codex) ซึ่งพิจารณาบนพื้นฐานของปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (Daily Intakes Reference Value, DIRVs) ของประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดีช่วงอายุ 19-50 ปี และค่าพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน 2,000 กิโลแคลอรี
- ปรับลดช่วงอายุอ้างอิงจาก “อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป” เป็น “อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป” อ้างอิงตามมาตรฐาน CODEX เพื่อแบ่งกลุ่มประชากรให้ชัดเจน โดยแยกกลุ่มทารกและเด็กเล็ก (อายุ 0-3 ปี) ออกจากกลุ่มประชากรทั่วไป
- ไม่กำหนดค่า Thai RDIs ของฟลูออไรด์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพิจารณาการกำหนดค่า RDIs ของกรมอนามัย
5. ข้อกำหนดเงื่อนไขการแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการตามบัญชีหมายเลข 4 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณะสุข (ฉบับที่ 445) เรื่องฉลากโภชนาการ
5.1 กำหนดนิยามและหลักการของการกล่าวอ้างปริมาณสารอาหาร และการกล่าวอ้างปริมาณสารอาหารเปรียบเทียบ
5.2 ตัดข้อกำหนดของการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร (Nutrient function claims) ย้ายไปไว้ในประกาศฯ เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก
5.3 เกณฑ์และเงื่อนไขการกล่าวอ้างทางฉลากโภชนาการ
ขอบข่ายอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการต้องเป็นอาหารประเภทใดบ้าง ?
1. อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ หมายความถึง อาหารที่มีการแสดงข้อความรูป รูปภาพ รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย เครื่องหมายการค้า หรือข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชนิดหรือปริมาณสารอาหาร หรือปริมาณสารอาหารโดยเปรียบเทียบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ไม่รวมถึงอาหารที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ระบุชนิดและปริมาณสารอาหารไว้เป็นการเฉพาะ
2. อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพ หมายความถึง อาหารที่มีการแสดงข้อความ รูป รูปภาพ รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย เครื่องหมายการค้า หรือข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีผลต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม
3. อาหารที่มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย หมายความถึง อาหารที่มีการแสดงข้อความ รูป รูปภาพ รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย เครื่องหมายการค้า หรือข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณประโยชน์หรือหน้าที่ของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบของอาหารหรือสารอาหารอย่างหนึ่งอย่างใดของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อร่างกายหรือสุขภาพ มาใช้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย
4. อาหารอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ท่านสามารถดูข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ https://food.fda.moph.go.th/media.php?id=583911128187412480&name=new-law-445-448.pdf
สำหรับประเทศอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องโภชนาการ
ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา โดย FDA หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเปลี่ยน Nutrition Facts หรือฉลากโภชนาการเป็นรูปแบบใหม่ มีข้อความว่า “ด้วยรูปแบบฉลากโภชนาการใหม่นี้ คุณจะไม่จำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือเครื่องคิดเลขคำนวณ เพื่อตัดสินใจว่าอาหารชิ้นที่กำลังจะซื้อว่าดีกับลูกของคุณหรือไม่” สำหรับการเปลื่ยนฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่ของสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษากันต่อ ๆ ไป ในเรื่องของการที่ไทยอาจต้องเปลื่ยนฉลากโภชนาการอีกครั้งในอนาคต หากยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากพอ
แล้วฉลากรูปแบบใหม่ของสหรัฐอเมริกาเปลื่ยนอะไรไปบ้าง ?
1. เพิ่มปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไป หรือ Added sugar
ด้วยงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า น้ำตาลที่เพิ่มเติมลงไปในอาหารจนมากเกินไปนั้น เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน โรคเบาหวาน และฟันผุ การระบุตัวเลขน้ำตาลส่วนเกินนี้ ก็เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลที่น้อยกว่าได้ง่ายขึ้น
2. ตัดส่วนที่ระบุ Calories from fat หรือปริมาณพลังงานจากไขมันออก
เพราะงานวิจัยในระยะหลังพบว่า ไขมันนั้นมีทั้งไขมันที่ดี และไขมันที่ไม่ดี แนวคิดแบบเดิมที่เน้นแต่ลดพลังงานจากไขมัน โดยไม่ดูประเภทไขมัน ดูจะเป็นแนวคิดที่ไม่เหมาะสมอีกต่อไป
3. ปรับปริมาณหน่วยบริโภคให้ตรงกับความเป็นจริงขึ้น
อย่างเช่น น้ำอัดลม ไม่ว่าจะขวดใหญ่หรือเล็ก คนมักดื่มหมดในครั้งเดียว (มีน้อยคนที่จะดื่มครึ่งขวด แล้วเก็บไว้ดื่มต่อวันหลัง) หน่วยบริโภคจึงปรับให้เท่ากับหนึ่งขวด ตามปริมาณที่คนจะดื่มกันจริง ๆ
4. เปลี่ยนประเภทของวิตามินและแร่ธาตุด้านล่าง ให้ตรงกับความต้องการของคนในปัจจุบัน
กล่าวคือ เพิ่มวิตามินดี (ปัจจุบันพบภาวะขาดวิตามินดีมากขึ้น) และเพิ่มแร่ธาตุโพแทสเซียม ซึ่งควรรับประทานให้มากขึ้นในคนปกติ แต่ต้องจำกัดการรับประทานในผู้ป่วยโรคไต
วิธีการอ่าน ฉลากโภชนาการ (How to calculate nutritional information)
แล้วใครจำเป็นต้องอ่านฉลากโภชนาการ ? คงเป็นคำถามที่หลายคนอาจเกิดสงสัยก่อนอยากทำความเข้าใจวิธีการอ่านฉลากโภชนาการ
สำหรับการปรับเปลื่ยนฉลากโภชนาการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับใหม่ พ.ศ. 2566 โดยนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้กล่าวว่า “การปรับปรุงฉลากโภชนาการแบบใหม่ จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการแสดงข้อความกล่าวอ้าง และแสดงฉลากโภชนาการ เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการที่เป็นปัจจุบัน สามารถคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ปรับปรุงข้อมูลในฉลากโภชนาการให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลคุณค่าทางด้านโภชนาการหรือปริมาณสารอาหารต่าง ๆที่ร่างกายจะได้รับ และสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารอย่างถูกต้องเหมาะสมกับการดูแลสุขภาพของตนเอง”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้อาหารสำเร็จรูปเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยนวัตกรรมต่างๆ หรือเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อโลกเรามากขึ้น เหตุนี้จึงหาซื้อที่ง่าย ทุกที่มี และสภาวะเร่งรีบแต่ละบุคคล ฉลากโภชนาการจึงเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ได้รับสารอาหารตามความต้องการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ หรือผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
สำหรับการอ่านฉลากจะเป็นการอ่านฉลาก 4 ส่วน ซึ่งการอ่านฉลากโภชนาการ ทำได้ง่ายดายหากเพียงทราบหลัก ดังนี้
ส่วนที่ 1. “ กินได้…ครั้ง ต่อ …” หมายถึง อาหารห่อนี้ ขวดนี้ กล่องนี้ กินได้กี่ครั้ง นั่นเอง ตัวอย่างเช่น นมพร้อมดื่ม หากหนึ่งหน่วยบริโภคคือ 1 กล่อง หรือ 250มิลลิลิตร จำนวนครั้งที่กินได้ก็คือ 1 แต่หากเป็นขวดลิตรควรแบ่งกิน (ตามหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง) ครั้งละ 200 มิลลิลิตรซึ่งจะกินได้ถึง 5 ครั้ง ต่อ 1ขวด (200 มิลลิลิตร)
ส่วนที่ 2. “คุณค่าทางโภชนาการการกินหนึ่งครั้ง: …หน่วยครัวเรือน (หน่วยวัดน้ำหนักหรือปริมาตรในระบบเมตริก)” หมายถึง เมื่อกินตามปริมาณที่ระบุในหนึ่งหน่วยบริโภคแล้ว เราจะได้พลังงานกี่กิโลแคลอรี
ส่วนที่ 3. แสดงคุณค่าทางโภชนาการที่เราจะได้รับเมื่อเมื่อกินตามปริมาณที่ระบุในหนึ่งหน่วยบริโภคแล้ว เราจะได้สารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าใด และเมื่อเทียบเป็นร้อยละของค่าอ้างอิงแล้วคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
ส่วนข้อมูลส่วนที่ 3 ช่วงที่ 2 จะเป็นชนิดและปริมาณวิตามิน และแร่ธาตุที่จะได้รับ (กรณีที่มีการแสดงวิตามินและแร่ธาตุ) เป็นร้อยละ Thai RDIs เมื่อคำนวณตามเงื่อนไขข้อ 2.3 ตามประกาศฯ
ส่วนที่ 4.แสดงค่าความต้องการพลังงานต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 3 ปีขึ้นไป
ส่วนที่ 5. แสดงค่าความต้องการพลังงานและสารอาหารชนิดต่างๆต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 3 ปีขึ้นไป (อาจแสดงหรือไม่แสดงในหน้าฉลากก็ได้)
“ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน” หมายถึงร้อยละของปริมาณสารอาหารที่มีในหนึ่งหน่วยบริโภค เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวันแล้วคิดเทียบเป็นร้อยละ เช่น ถ้าอาหารนี้ให้คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 8 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน หมายความว่าเรากินอาหารนี้ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคเราจะได้รับคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 8 และเราต้องกินอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตจากอาหารอื่นอีกร้อยละ 92
ทั้งนี้จะสังเกตเห็นว่า โปรตีน น้ำตาล วิตามินและแร่ธาตุ (เว้นโซเดียม และ โพแทสเซียม) จะแสดงเป็นร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันเท่านั้น เนื่องจากโปรตีนมีหลากหลายชนิดและคุณภาพแตกต่างกัน การระบุเป็นร้อยละจะทำให้เข้าใจผิดได้
สำหรับน้ำตาลนั้นปริมาณร้อยละเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนวิตามินและแร่ธาตุ (เว้นโซเดียม และ โพแทสเซียม) ปริมาณความต้องการของร่างกายมีค่าน้อยมากและผลการวเคราะห์แสดงค่าหลากหลายหน่วย การแสดงปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุที่มีอยู่จริงอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ ซึ่งการแสดงเปรียบเทียบค่าร้อยละที่แนะนำต่อวัน ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายและนำไปใช้ประโยชน์ สำหรับการบริโภคเพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณสารอาหารให้ครบตามที่ร่างกายต้องการต่อวัน
สรุป
สำหรับการปรับเปลื่ยนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 445) พ.ศ. 2566 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ในอนาคตการอ่านฉลากโภชนาการอาจเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นสำหรับผู้บริโภคไทย โดยการปรับเปลื่ยนฉลากที่มีความซับซ้อนน้อยลง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณสมบัติทางโภชนาการอย่างเหมาะสม และเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการ อาจต้องมีการปรับเปลื่ยนฉลากเก่าให้เป็นฉลากปัจจุบัน ส่วนนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและทำความเข้าใจสำหรับประกาศใหม่ เอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น และสำหรับผู้เริ่มประกอบธุรกิจด้านอาหาร ปัจจุบันมีเนื้อหาจากราชการ และ ข้อมูลบน Website ต่างๆให้ศึกษาเรื่องประกาศสาธาณสุขฉบับใหม่ สำหรับเนื้อหาข้อมูลประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับใหม่ ท่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://food.fda.moph.go.th/press-release/law-new-7/
อย่างไรก็ตาม ฉลากโภชนาการ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทำให้สามารถเลือกบริโภคอาหารสำเร็จรูป / กึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณคุณค่าสารอาหารตรงตามความต้องการของร่างกายได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ผู้บริโภคจึงไม่ควรละเลยหรือมองข้ามฉลากโภชนาการ การอ่านข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ จะทำให้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารตามที่ต้องการได้
การให้บริการของ AMARC
AMARC ให้บริการตรวจวิเคราะห์จัดทำฉลากโภชนาการ และขึ้นทะเบียน อย. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่ รวมถึงลูกค้าที่เคยวิเคราะฉลากโภชนาการตาม ปสธ.ฉบับที่ 182 และต้องการวิเคราะห์เฉพาะรายการที่เพิ่มขึ้นอย่างโพแทสเซียม เพื่อนำไปคำนวณฉลากโภชนาการตาม ปธส. ฉบับที่ 445
สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC
ที่มาข้อมูล : บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน)
: ฉลากโภชนาการ จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. )
: ฉลากอาหาร จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
: หลักการและสาระสาคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ (กองอาหาร)
: ฉลากโภชนาการแบบใหม่ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา
: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 445) พ.ศ. 2566 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ฉลากโภชนาการ
: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 446) พ.ศ. 2566 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ
: Thaipost อย.ออกกม.ใหม่ 4 ฉบับ ยกเครื่องฉลากอาหาร เน้นเข้าใจง่าย ระบุสารอาหารที่ร่างกายได้รับ บังคับใช้ 2 ก.ค.67