ความถี่ในการสอบเทียบเครื่องมือ จำเป็นต้องบ่อยขนาดไหน

การสอบเทียบจำเป็นต้องบ่อยขนาดไหน “ความถี่ในการสอบเทียบเครื่องมือ”เท่าไหร่ถึงเหมาะสม ?

หากใครเคยทราบข้อมูลการสอบเทียบมาบ้าง จะทราบว่าเครื่องมือที่เราใช้อยู่นั้น มีการเสื่อมสภาพ หรือวัดไม่ได้มาตรฐานที่ควรเป็น การสอบเทียบจึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้เครื่องมือเที่ยงตรง และได้มาตรฐานตามที่กำหนด คำถามต่อมาคือ แล้วเกณฑ์กำหนดความถี่ของการสอบเทียบเครื่องมือ ต้องบ่อยขนาดไหน ?

ความถี่ในการสอบเทียบเครื่องมือ ควรสอบเทียบบ่อยๆเพื่อให้เครื่องมือได้การรับรองตามระบบบริหารจัดการคุณภาพ 

การจัดทำแผนสอบเทียบและตรวจสอบเครื่องมือระหว่างใช้งาน ข้อปฏิบัติในการใช้เครื่องมือ รวมทั้งแผนการบำรุงรักษาและซ่อมเครื่องมือ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการเครื่องมือให้เป็นไปตามระบบบริหารจัดการคุณภาพ เครื่องมือวัดที่มีผลกระทบต่อการตรวจวิเคราะห์/การทดสอบ ต้องได้รับการสอบเทียบและตรวจสอบตามความเหมาะสมของเครื่องมือแต่ละชนิด

การกำหนด ความถี่ในการสอบเทียบเครื่องมือ และตรวจสอบเครื่องมือ

ในระยะเริ่มต้นควรกำหนดเวลาตามคู่มือผู้ผลิตเครื่องมือ หรือตามเอกสารอ้างอิงมาตรฐานสากล แล้วเมื่อมีข้อมูลการสอบเทียบ/ตรวจสอบ หรือข้อมูลที่สนับสนุนความถูกต้องแม่นยำความสามารถของเครื่องมือ มีประวัติเครื่องมือย้อนหลัง 3 ปีที่ทุกค่าของการสอบเทียบ/ตรวจสอบอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ สามารถปรับขยายระยะเวลาการสอบเทียบออกไปอีก 1 ปี หรือตามความเหมาะสมของเครื่องมือนั้น ๆ ในทางตรงกันข้ามหากประเมินผลดูแล้วมีค่าเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และมีการสอบเทียบประจำทุกปี ควรปรับแผนสอบเทียบให้มีความถี่มากขึ้นอาจจะทุก 6 เดือน 

ความถี่ในการสอบเทียบเครื่องมือ มีหลายปัจจัย

ความถี่ในการสอบเทียบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความถี่ในการใช้งาน ด้านความแม่นยำที่ต้องการ โดยทั่วไปจึงมักจะกำหนดระยะเวลาการสอบเทียบของเครื่องมือวัดในครั้งแรกที่ 6 เดือน หรือ 12 เดือนต่อการสอบเทียบหนึ่งครั้ง โดยจะขึ้นอยู่กับทางผู้ต้องการสอบเทียบและอุปกรณ์ที่ต้องการสอบ สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณากำหนดความถี่ของการสอบเทียบอุปกรณ์นั้น โดยทั่วไปจะพิจารณาจากองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  1.  ประวัติการสอบเทียบของอุปกรณ์
    หากประวัติการสอบเทียบย้อนหลังประมาณ 2 – 3 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าความถูกต้องยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือไม่มีแนวโน้มแสดงให้เห็นว่าไม่ตรงตามความแม่นยำที่มาตรฐานกำหนด เราสามารถที่จะยืดระยะเวลาการสอบเทียบออกไปได ้แต่ในทางกลับกันหากประวัติการสอบเทียบแสดงให้เห็นว่าผลการสอบเทียบนอกเกณฑ์การยอมรับที่กำหนด ก็ควรปรับระยะเวลาการสอบเทียบต้องหดลง แม้ว่าจะมีประวัติเพียงครั้งเดียวก็ตาม
  2. ลักษณะการใช้งานในจุดวิกฤตหรือไม่
    เครื่องมือวัดที่ถูกติดตั้งใช้งาน ณ จุดวิกฤตของกระบวนการผลิต ย่อมต้องมีความถี่ในการสอบเทียบมากกว่าเครื่องมือวัดที่ติดตั้ง ณ จุดใช้งานทั่วไป
  3. การบำรุงรักษา
    เครื่องมือวัดที่ผู้ใช้งานมีการเก็บดูแลบำรุงรักษาอย่างดี ด้านระยะเวลาการสอบเทียบก็อาจจะนานกว่าเครื่องมือวัดที่ผู้ใช้งานอาจไม่ได้หมั่นตรวจเช็คและดูแล
  4. ความถี่ในการใช้งาน
    สำหรับเครื่องมือวัดที่มีความถี่ในการใช้งานบ่อย โอกาสที่จะทำให้เครื่องมือวัดนั้นไม่ตรงตามความแม่นยำที่มาตรฐานกำหนดจะมีมากกว่าเครื่องมือวัดที่มีความถี่ในการใช้งานน้อยกว่า ดังนั้นความถี่ในการสอบเทียบของเครื่องมือวัดเหล่านี้ก็ย่อมจะต้องมีมากกว่าด้วยเช่นกัน
  5. พิจารณาจากประเภทของอุปกรณ์
    กล่าวคือ อุปกรณ์ที่เรียกว่า “Active Equipment” จะมีความถี่ในการสอบเทียบมากกว่าอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Passive Equipment”
    * Active Equipment คือ เครื่องมือวัดที่ต้องมีไฟเลี้ยง เช่น เครื่องชั่ง , Digital Multimeter เป็นต้น
    * Passive Equipment คือ เครื่องมือที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัย Bias supply หรือไฟเลี้ยง เช่น ตุ้มน้ำหนัก , Vernier Caliper เป็นต้น
  6. กรณีที่เกิดความสงสัยในการอ่านค่าของเครื่องมือ
    เช่นเครื่องมือหล่น หรือส่งไปซ่อมมา แนะนำให้ส่งเครื่องมือเข้ามาสอบเทียบโดยทันทีเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเครื่องมือวัดยังคงมีคุณสมบัติทางมาตรวิทยา

ทำไมต้องสอบเทียบอยู่เสมอ ?

หากว่ากันตามตรง การสอบเทียบเครื่องมือวัดถือเป็นภาคบังคับที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม ขนส่ง วิศวกรรม หรือในกลุ่มที่มีมาตรฐานกำหนดให้แสดงความถูกต้องของเครื่องมือวัดอย่างเข้มงวด จะต้องทำการสอบเทียบอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาระดับการดำเนินงานให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนด และจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจเกี่ยวกับระบบของการวัด และผลการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ

อย่างในบางอุตสาหกรรมที่ค่าความคลาดเคลื่อนแม้เพียงเล็กน้อย ก็นำไปสู่การเกิดความเสียหายได้มาก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตยาที่หากชั่งส่วนผสมในปริมาณที่น้อยหรือมากเกินไป อันเป็นผลมาจากเครื่องชั่งที่มีความคลาดเคลื่อนสูง อาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายไม่ได้คุณภาพ เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ที่บริโภค หรือ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หากก่อสร้างโดยใช้เครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานและมีความคลาดเคลื่อน อาจเกิดอันตรายต่อผู้ก่อสร้างหรือผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้การสอบเทียบเครื่องมือวัดอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นแนวทางที่ช่วยในการลดความเสี่ยงจากสิ่งเหล่านี้ได้

หากพูดให้เข้าใจโดยง่าย การสอบเทียบเครื่องมือวัดจะช่วยในการรักษาระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพเสมอ มีหน้าที่คอยควบคุมอุปกรณ์และเครื่องมือวัดให้ตรงตามมาตรฐานทั่วไป อยู่ในค่าที่ถูกต้องและเหมาะสมพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพเป็นไปตามที่ต้องการ

ต้องการส่งสอบเทียบ ต้องดูอะไรบ้าง ?

การที่เราจะส่งเครื่องมือสอบเทียบเบื้องต้น เราต้องทราบก่อนว่านำมาใช้งานเกี่ยวข้องกับระบบงานหรือมาตรฐานอะไร เพราะสิ่งที่เราจะได้มาหลังจากส่งเครื่องมือ คือ ใบรายงานผลการสอบเทียบ  (Certificate of Calibration)  ซึ่งเป็นเอกสารเพื่อยืนยันว่าเครื่องมือวัดนั้นๆ ได้รับการสอบเทียบแล้ว ที่สำคัญกว่าคือ รายละเอียดใบรายงานของผลการสอบเทียบ เพื่อนำมาพิจารณาหรือประเมินว่าเครื่องมือนั้นยังสามารถนำมาใช้งานได้ตามที่ต้องการ / ตามที่กำหนด หรือเป็นเกณฑ์ที่เรายอมรับหรือไม่ เช่น ค่าความผิดพลาด (Error), ค่าความถูกต้อง (Accuracy), ค่าความไม่แน่นอนของการวัด (Uncertainty), ค่าเลื่อน (Drift) และความเสถียร (Stability) และเพื่อที่จะได้พิจารณาว่าค่าต่างๆ เหล่านี้ มีโอกาสที่จะหลุดออกนอกเกณฑ์การยอมรับหรือไม่ เพื่อที่จะได้กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวัง กำหนดวิธีการใช้งาน ตลอดจนการตรวจสอบระหว่างใช้งาน

ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากเครื่องมือมีผลการวัดออกนอกเกณฑ์การยอมรับที่กำหนดด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจส่งเครื่องมือไปทำการสอบเทียบ ที่ห้องปฏิบัติการสอบเทียบ สิ่งที่เราควรจะต้องพิจารณาและคำนึงถึงก่อนส่งเครื่องมือวัดไปสอบเทียบทุกครั้ง เพื่อที่ว่าจะได้ผลการสอบเทียบที่เป็นไปตามความต้องการของเรา โดยมีข้อแนะนำ 3 ข้อดังนี้

1. กำหนดเกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือวัดว่ามีค่าเท่าใด

2. ตรวจเช็ครายชื่อห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่ได้รับการรับรอง ความสามารถระบบคุณภาพตามมาตรฐานอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการสอบเทียบ เช่น ISO/IEC 17025: 2017 ขอบข่าย และขีดความสามารถในการสอบเทียบและการวัดเป็นไปตามเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่ เพื่อที่จะคัดเลือกว่าจะส่งไปที่ใดโดยพิจารณาราคา ระยะเวลา และการบริการที่เหมาะสม โดยท่านสามารถตรวจสอบข้อมูล รายชื่อห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่ได้รับการรับรองสามารถดูในเว็บของ สำนักงานมาตรฐานต่าง ๆ

3. การตรวจเช็คเครื่องมือวัดเบื้องต้น เพื่อดูว่าเครื่องมือนั้นๆ ยังใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ เพราะบางหน่วยงานที่รับบริการสอบเทียบ จะมีค่าบริการการสำหรับตรวจเช็คเครื่องมือก่อนส่งเข้าห้องปฏิบัติการสอบเทียบ  กรณีที่เครื่องมือปกติเราจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในส่วนนี้  ทั้งนี้เป็นหลักฐานการยืนยันว่าก่อนส่งเครื่องมือสอบเทียบ เครื่องของเราเป็นปกติหรือไม่ ป้องกันเครื่องมือเสียระหว่างขนส่งหรือระหว่างสอบเทียบ

หน่วยงานเพื่อการสอบเทียบ

การสอบเทียบปรับตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมทั่วไป ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และได้รับความสนใจเป็นพิเศษในประเทศที่พัฒนาแล้ว งานประเภทนี้ในบางประเทศได้ รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานใหญ่ระดับชาติ เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานกลางเพื่อให้บริการแก่งานวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม เพื่อผลทางด้านการประหยัดและลดความฟุ่มเฟือยในงานอุตสาหกรรม โดยการสอบเทียบปรับตั้งเครื่องมือมีมาตรฐานถูกต้องตรงกันนั้นทำให้การตรวจสอบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลและผลิตภัณฑ์ซึ่งผลิตจากโรงงานต่าง ๆ เป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างเดียวกันสามารถใช้รวมกันได้ ก่อให้เกิดการประหยัดทั้งด้านทรัพยากรและแรงงานเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นงานสอบเทียบปรับตั้งเครื่องมือยังมีความจำเป็นและสำคัญยิ่งในการควบคุมผลการวิเคราะห์ ทคสอบและในงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการประดิษฐ์และวิจัย ขจัดปัญหาการขัดแย้งต่าง ๆ ทางด้านวิชาการ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

สำหรับประเทศไทยนั้น กิจการอุตสาหกรรมกำลังขยายตัวมากขึ้น แต่ยังขาดแคลนงานบริการด้านการสอบเทียบปรับตั้งเครื่องมืออยู่มาก เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตและการตรวจสอบของแต่ละโรงงานหรือหน่วยงานยังมีความแตกต่างกัน การผลิต ผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามขนาดและเกณฑ์คุณภาพยังมีอุปสรรคอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ บัญหาดังกล่าว เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องศึกษาหาทางแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนามีผู้ให้บริการสอบเทียบเครื่องมือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งราชการ และเอกชน

โดยประเทศไทยหลัก ๆ ปัจจุบัน มีการให้บริการ 2 แบบ คือ

1. การสอบเทียบและปรับตั้งเครื่องมือทดสอบ ซึ่งบริษัท โรงงาน ทั้งของเอกชนและหน่วยราชการ ได้ขอรับบริการ อาทิเช่น เครื่องช่าง, ตุ้มน้ำหนัก, เครื่องทดสอบแรงอัดกระเบื้องและวัสดุก่อสร้าง, ไพโรมิเตอร์ แลเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิ, เครื่องวัดความกดดันของของเหลวและก๊าซ, เครื่องแก้ว, Cold Room เป็นต้น

2. การตรวจสอบความเที่ยงตรงของเครื่องมือประกอบการพิจารณารับรองคุณภาพสินค้า ในการรับรองคุณภาพสินค้านั้น นอกจากการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพของสินค้าแล้ว ผู้ให้บริการพิจารณาวิธีการควบคุมคุณภาพ และเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบของโรงงานด้วยว่าถูกต้องเพียงใด ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่สอบเทียบของผู้ให้บริการต่าง ๆ ตรวจสอบเครื่องมือของโรงงานแล้ว และพบว่าไม่ถูกต้อง ก็จะให้คำแนะนำเพื่อทำให้ถูกต้อง สำหรับใช้งานในการควบคุมคุณภาพของโรงงานต่อไป

gettyimages

ความน่าจะเป็นที่ต้องสอบเทียบ และความถี่ในการสอบเทียบเครื่องมือ

การสอบเทียบเครื่องมือวัด เป็นการดูแลที่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่เราจำเป็นต้องสอบเทียบ เพราะการสอบเทียบเครื่องมือวัดจะทำให้เรารู้ว่ามาตรฐานเครื่องที่ใช้งานตรงไปตามที่สากลหรือการสอบเทียบงานนั้นอยู่ถูกต้องตามมาตรฐาน หากเราใช้เครื่องมือวัดที่ไม่ได้มาตรฐาน เราอาจจะเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจซ้ำ และอาจจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการการสอบเทียบเครื่องมือวัด การสอบเทียบที่ทำมากเกินความจำเป็นก็อาจก่อให้เกิดความสูญเสีย งบประมาณของหน่วยงานเกินความจำเป็นเช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องดูความจำเป็นในความถี่ของการสอบเทียบเครื่องมือ

การสอบเทียบเครื่องมือวัดมักจะมีคำถามเกิดขึ้นบ่อย ๆ ว่าการสอบเทียบ เครื่องมือสอบเทียบ เราจะต้องสอบเทียบบ่อยแค่ไหน อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เราสามารถสอบเทียบเครื่องมือวัดได้ก็ต่อเมื่อเครื่องวัดของเรามีผลกระทบต่อคุณภาพของข้อมูล หากเครื่องมือวัดของไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของข้อมูล เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสอบเครื่องมือนั้น ๆ ก็ได้ แต่การที่เราจะกำหนดเครื่องมือวัดได้ เราจะต้องมีการสอบเทียบบ้าง โดยจะใช้ข้อสันนิษฐานดังต่อไปนี้ โดยให้เราตั้งคำถามว่าหากเครื่องมือวัดที่ใช้ในการสำรวจอ่านข้อมูลผิดพลาดไปจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จะได้รับผลกระทบที่เสียหายต่อคุณภาพของข้อมูลหรือไม่ หากพบว่าการสำรวจขึ้นอยู่กับค่าการอ่านของเครื่องมือวัดเป็นสำคัญก็แสดงว่าเครื่องวัดนั้น ต้องดำเนินการสอบเทียบ และอีกกรณีหนึ่งคือหากเมื่อเจ้าหน้าที่มีความมั่นใจว่าในค่าของเครื่องมือวัดจะต้องสอบเทียบ ในเรื่องของความปลอดภัย เราก็สามารถนำมาสอบเทียบได้ ถึงแม้ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายในการสอบเทียบ แต่เพื่อประสิทธิภาพของเครื่องวัด เราก็ควรที่จะสอบเทียบ เพื่อผลประโยชน์ของข้อมูล

AMARC ให้บริการสอบเทียบเครื่องมือ โดยท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ AMARC

ที่มาข้อมูล : บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน)
: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ความถี่ในการสอบเทียบเครื่องมือ และตรวจสอบเครื่องมือระหว่างการใช้งาน
: การสอบเทียบปรับตั้งเครื่องมือ กรมวิทยาศาสตร์ ฉบับ พ.ศ 2519