วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการ “ปลดล็อก กัญชา และกัญชง” ออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 แต่ยังคงเหลือเฉพาะสารสกัดจากกัญชง กัญชาที่มีปริมาณ THC เกิน 0.2% เท่านั้นที่ยังถือเป็นยาเสพติด โดยการปลดล็อกในครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่ปลูกใช้ในครัวเรือน รวมถึงผู้ประกอบการที่ปลูกในเชิงพาณิชย์
การศึกษา กัญชา กัญชง เริ่มเป็นที่น่าสนใจอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ในขณะนี้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานชีวภาพ การปลูก กัญชา และกัญชงนั้นจึงนับเป็นการศึกษาเกษตรแขนงหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรยุคใหม่
ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เกิดการนำพืช กัญชา กัญชง มาต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และเชิงอุตสาหกรรม มีเป้าหมายเพื่อ ประโยชน์ทางการแพทย์ และเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพ พร้อมทั้งประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ
กฏหมายและข้อกำหนดต่างๆของ สารสกัดกัญชา กัญชง
ปัจจุบันการปลูกหรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง นำเข้าเมล็ดพันธุ์ และยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาต โดยหากเป็นส่วนของการสกัด กองควบคุมวัตถุเสพติดกัญชา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปแล้วการทำสารสกัดกัญชาจะตรวจสอบว่ามีสารแต่ละส่วนปริมาณเท่าใด ต้องนำสารสกัดที่ได้ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ
สำหรับการปลูก ปัจจุบันมีทั้งผู้บริโภค และ ผู้ประกอบการที่ปลูกในเชิงพาณิชย์มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การปลูกพืชกัญชา-กัญชงนั้น สามารถทำได้ทั้ง ปลูกพื้นที่ปิด, ปลูกในโรงเรือน หรือ ปลูกแบบกลางแจ้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ปลูก แต่เมื่อยิ่งมีระบบการปลูกที่มาก ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า แล้วปลูกแบบไหนได้ผลผลิตที่สุด?
โดย Ed Rosenthal (ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเพาะปลูกกัญชา-กัญชง) กล่าวว่า “การปลูกที่หลากหลาย มาพร้อมผลผลิตที่หลากหลาย ซึ่งเราต้องโฟกัสที่เรานำผลผลิตไปใช้ประโยชน์อะไร หรือจะนำส่วนใดไปใช้ประโยชน์มากกว่า” ทั้งนี้การปลูกกัญชา คล้ายกับการปลูกพืชทั่วไป ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้และนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
ยกตัวอย่างเช่น เลือกนำมาสกัด โดยใช้ส่วน ใบและลำต้น หรือเลือกใช้ส่วนอื่นนำมาสกัด และผู้ผลิตต้องการใช้เพื่อพาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือเพื่อใช้ในครัวเรือน ตลอดไปจนตั้งแต่การปลูก มีการปลูก ณ ภูมิประเทศแบบใด ประเทศอะไร ความชื้น หรืออุณหภูมิเฉลี่ยที่อยู่เป็นอย่างไร ซึ่งปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างตันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการปลูกแบบไหน “เหมาะสม” กับรูปแบบการนำไปใช้มากกว่ากัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการมือใหม่หรือมีประสบการณ์ ก็ยังมีสิ่งใหม่ให้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลกัญชา-กัญชงอยู่เสมอ โดยเทคโนโลยีและเทคนิคการเพาะปลูกกัญชากำลังผลักดันขอบเขตของการเพาะปลูกกัญชาอย่างต่อเนื่อง
กรรมวิธีการปลูก: ระบบปิด ระบบเปิดกลางแจ้ง และปลูกในโรงเรือน
แม้ว่าการปลูกกัญชาในกรณีของบุคคลทั่วไปจะยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่การเข้าใจความแตกต่างของวิธีการปลูกรวมไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อผลผลิตกัญชา และกัญชงก็เป็นความรู้ที่สำคัญ ซึ่งทำให้เราเข้าใจเรื่องกัญชา และกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำได้ ซึ่งหากเป็นผู้ผลิตหรือเกษตรกรผู้เพาะปลูก อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการปลูกที่หลากหลาย มาพร้อมผลผลิตที่หลากหลาย ผู้ผลิตหรือเกษตรกรผู้เพาะปลูกอาจต้องดูว่าผลผลิตที่เราได้นั้นนำไปใช้ประโยชน์อะไร หรือนำส่วนไหนไปใช้ประโยชน์
ระบบปิด หรือเรียกว่า Indoor Cultivation – ช่วยให้ผู้ปลูกสามารถควบคุมปัจจัยกระบวนการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างเสถียร เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ค่าแสง ระยะเวลาการให้แสง การหมุนเวียนของอากาศ กระทั่งถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งถ้าควบคุมให้สะอาด ผลลัพธ์ย่อมมีคุณภาพดีและเสถียรเหมาะแก่การทำธุรกิจเชิงอุตสาหกรรม แต่หากปราศจากการควบคุมความสะอาดที่ดี ย่อมเป็นที่หมักหมม และ เอาของเสียออกยากเนื่องจากจะมีการสะสมเล็กๆ อยู่ในระบบเสมอ
หากพูดถึงการลงทุนก็คงเป็นระบบที่มีการลงทุนสูงที่สุด แต่ก็ได้มาซึ่งการควบคุมคุณภาพ และ การทำรอบการปลูกได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องอิงฤดูกาล ผู้ปลูกจึงสามารถควบคุมปริมาณผลผลิตที่จะได้รับ รวมไปถึงผลผลิตที่จะได้รับมากขึ้นตามไปด้วย นั่นหมายถึงผู้ปลูกสามารถควบคุมงบประมาณการลงทุนตลอดไปจนถึงจุดคุ้มทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ และยังไม่รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตที่ต้องการวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หรือกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยาที่คำนึงถึงปริมาณสารสำคัญที่สูง ปราศจากสารปนเปื้อนหรือสารที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ซึ่งการปลูกระบบอื่นๆ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้มากเท่าการปลูกระบบปิด และโดยทั่วไปแล้วการปลูกในระบบปิดก็มักให้เปอร์เซ็นต์สารสำคัญมากกว่าเมื่อเทียบกับกรรมวิธีการปลูกแบบอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตหรือผู้เพาะปลูกในการเลี้ยงดูด้วย
ระบบปลูกในโรงเรือน Green House – เป็นการปลูกที่มีความนิยมเช่นกัน แต่การปลูกแบบในโรงเรือนนั้นก็มีรายละเอียดการลงทุนที่แตกต่างกันพอสมควรอาทิ “การปลูกโรงเรือนทรงกอไก่ ก็เรียกกรีนเฮ้าส์ การปลูกแบบโรง Evap (Evaporator-ระบบทำความเย็นที่ใช้ความชื้นลดอุณหภูมิ) ก็เรียกกรีนเฮ้าส์ หรือโรงเรือนแบบ Iso Wall หลังคาใสแบบปิดม่านกันแสง (Light Dep) ก็เรียกกรีนเฮ้าส์” ซึ่งแต่ละแบบก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อใช้แสงจากพระอาทิตย์ส่องสว่างให้กับพืช แน่นอนว่าถ้าสำหรับเมืองแล้ง แดดออกจัดและแทบไม่มีเมฆ คงสามารถให้ผลที่เสถียร แต่ทว่าสำหรับเมืองที่อยู่ในเขต “ร้อนชื้นฝนตกชุก” ก็จะไม่สามารถควบคุมปริมาณแสงได้สม่ำเสมอ ค่าสารสำคัญภายในก็จะสวิงเป็นเรื่องต้องพบเจอ โดยตามหลักการ เมื่อพืชไม่ได้แสง 100% ตลอดการปลูก ปริมาณสารสำคัญจะน้อยกว่าโรงปลูกแบบปิดที่ให้แสงโดยไม่ขาดแน่นอน
ส่วนการ รักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมกับพืช มักนำระบบแบบใช้ความชื้นเพื่อลดอุณหภูมิเป็นส่วนใหญ่ หากใช้ในภูมิภาคที่แห้งแล้งความชื้นต่ำ การได้รับความชื้นก็อาจเป็นการเหมาะสม แต่หากเป็นการปลูกในที่ที่มีความชื้นอยู่แล้ว ความเสี่ยงในการติดเชื้อราจะมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นมาก อีกทั้งการควบคุมแมลง หรือ ศัตรูพืชรวมถึงการเจือปนสิ่งต่างๆ ก็สามารถปะปนเข้ามาได้ง่าย เนื่องจากโรงเรือนเป็นระบบกึ่งเปิด เสี่ยงการเกิดเชื้อรา สปอร์ต่างๆ การปนเปื้อน และ หากได้รับการรบกวนจากปัญหาเรื่องแมลง ศัตรูพืช ฯลฯ การแก้อาจไม่พ้นต้องใช้สารเคมีเข้ามาควบคุมร่วมด้วย ทั้งนี้ การปลูกในโรงเรือน ความสะอาดและได้มาตรฐานเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ต่างกับกลุ่มเพาะปลูกระบบแบบปิดเลย
แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ การใช้พลังงานและทรัพยากร โดยการลงทุนจะน้อยกว่ารูปแบบโรงปลูกแบบปิด (Indoor Cultivation) ทว่าสำหรับประเทศไทยระบบกรีนเฮ้าส์จะใช้ได้ดีก็ต่อเมื่อใช้กับการปลูกพืชที่ต้องการ”ความชื้นสูงเท่านั้น” และจะให้ได้ผลดีต้องมีระบบการจัดการศัตรูพืชและสิ่งแปลกปลอมที่สามารถปะปนเข้าโรงเรือนควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ผลผลิตที่ได้จากโรงเรือนประเภทนี้อาจไม่สามารถที่จะควบคุมสารสำคัญให้เป็นไปอย่างมาตราฐานสม่ำเสมอเท่ากันทุกรอบการปลูก และเนื่องจากเป็นการปลูกระบบ “กึ่งเปิด” สำหรับการปลูกเพื่อนำไปใช้ในรูปแบบ “สารสกัด” มีความเสี่ยงที่อาจจะมีสารไม่พึงประสงค์อื่นๆเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดได้
ระบบปลูกกลางแจ้ง Outdoor Cultivation – การปลูกประเภทนี้คือการปลูกพึ่งพาธรรมชาติแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งหากเป็นการปลูกบนพื้นที่ของ พันธุ์พื้นเมือง ของพืชพันธุ์นั้นๆ ก็จะทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและก็จะทำให้พืชสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด ทั้งนี้สภาพภูมิอากาศและน้ำในแต่ละปีก็มีผลกระทบต่อผลผลิตโดยตรง ซึ่งหากต้องการความเสถียรและการควบคุมปริมาณสารสำคัญเพื่อนำผลผลิตมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรม อาจทำได้ยากยิ่งขึ้นเพราะปริมาณสารสำคัญที่อาจจะได้รับไม่คงที่หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ เป็นผลให้ต้องใช้วัตถุดิบที่มากขึ้นแต่ได้ปริมาณสารสำคัญที่ลดลง และยังไม่อาจควบคุมศัตรูพืชหรือการปนเปื้อนอื่นๆได้อีกด้วย ซึ่งในหลายธุรกิจค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งซึ่งหากจะทำแนวทางนี้เพื่ออุตสาหกรรมอาจต้องพบกับความกังวลเล็กน้อยถึงผลผลิต แต่ในทางกลับกันหากนำวัตถุดิบจากการปลูกด้วยระบบกลางแจ้งไปใช้ในเรื่องของเส้นใยเมล็ดหรือส่วนอื่นๆยกเว้นช่อดอกก็เป็นระบบที่คุ้มกับต้นทุนอย่างยิ่ง
บทสรุปของระบบการปลูกที่เราควรเลือกใช้หรือเลือกปลูกจะเป็นแบบไหน ในท้ายที่สุดต้องดูที่ว่าในปลายทางเราจะนำผลผลิตไปใช้สำหรับอะไร หากการนำไปใช้เชิงอุตสาหกรรม ความเสถียรและความต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการผลิต หากนำไปเพื่อใช้เชิงครัวเรือนก็ไม่ต้องกังวลมากนัก ส่วนถ้าจะนำไปทำเพื่อกรรมวิธีอื่นๆต่อๆไป การลงทุนปลูกในระบบปิดหรือกรีนเฮ้าส์ที่ลงทุนสูงคงไม่คุ้มต้นทุน
ระบบไหนให้ผลผลิตที่ดีที่สุด
ผลผลิตที่ได้ อาจแตกต่างกันออกไป เราอาจต้องวิเคราะห์ตามความต้องการหรือจุดประสงค์ที่เพาะปลูกของเราเหมือนอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ทุกระบบ อาจมีต้นทุนที่แตกต่างกัน เราอาจต้องคำนึงถึงหลายๆปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรแล้ว ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือผู้เพาะปลูก ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความมั่นคงและถูกต้องตามมาตรฐาน ตามรูปแบบที่ผู้บริโภคต้องการแตกต่างกันออกไป
AMARC ให้บริการ ตรวจรับรองประเภท กัญชา-กัญชง ตามมาตรฐานดังต่อไปนี้
ตรวจรับรอง GAP มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.)
1. มกษ.9001-2564 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร
2. มกษ.3502-2561 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร
ตรวจวิเคราะห์กลุ่มวัตถุดิบกัญชา-กัญชง, สารสกัด, น้ำมันสกัด, อาหาร และเครื่องดื่ม 7 บริการดังนี้
1. ตรวจวิเคราะห์ CBD, CBDA, CBN, CBG, CBGA และ CBC
2. ตรวจวิเคราะห์ Δ9-THC และ THC-A
3. ตรวจวิเคราะห์หาตัวทำละลายตกค้าง (Residue solvent) 3 รายการ เป็นต้น
4. ตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ที่เกิดจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร (Pesticide residue)
4.1 ตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช Pesticide 4 groups ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine group), กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate group), กลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate group) และกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids group)
4.2 ตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช Pesticides residue 250 items
*หมายเหตุ : ตัวอย่างน้ำมันสกัด ตรวจวิเคราะห์ได้เฉพาะรายการตามข้อ 4.1 เท่านั้น
5. โลหะหนัก เช่น สารหนู (Arsenic), แคดเมียม (Cadmium), ตะกั่ว (Lead) และปรอททั้งหมด (Mercury) เป็นต้น
6. สารพิษจากเชื้อรา เช่น แอฟลาทอกซิน (Aflatoxin) และโอคราทอกซินเอ (Ochratoxin A) เป็นต้น
7. เชื้อจุลินทรีย์ เช่น จำนวนจุลินทรีย์แอโรบิกทั้งหมด (Total aerobic microbial count), แบคทีเรียแกรมลบที่ทนน้ำดี (Bile-tolerance gram negative bacteria), อี.โคไล (Escherichia coli), ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa), สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), แซลโมเนลลา (Salmonella spp.), จำนวนยีสต์และราทั้งหมด (Total combined yeast and mold count) และคลอสทริเดียม (Clostridium spp.) เป็นต้น
และตรวจวิเคราะห์ในผลิตภัณฑ์และเครื่องสำอาง เช่น ครีม โลชั่น เซรั่ม 3 รายการดังนี้
1. ปริมาณสารสำคัญ เช่น Cannabidiol (CBD) และ Delta9-Tetrahydrocannabinol (Δ9-THC) เป็นต้น
2. สารประกอบกลุ่ม Terpene 14 รายการ
3. เชื้อจุลินทรีย์ 8 รายการ
สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC
ที่มาข้อมูล : http://bit.ly/3GEBL68
: http://bit.ly/3ZamQI7
: http://bit.ly/3GgQ8fl
: http://bit.ly/3vDgTFR
: http://bit.ly/3Zf3RvM
: http://bit.ly/3GhR7fp