ปุ๋ย (Fertilizer) อีกหนึ่งความสำคัญของปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง เราจึงควรทำความเข้าใจความแตกต่างและวิวัฒนาการของปุ๋ย

ปุ๋ย คืออะไร ?

ปุ๋ยเป็นอาหารของพืชซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญทางการเกษตร พืชต้องการธาตุอาหาร 16 ชนิด ได้แก่ ออกซิเจน ไฮโดรเจน คาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี แมงกานีส ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม และคลอรีน ในจำนวนนี้ ออกซิเจน ไฮโดรเจนและคาร์บอนพืชได้รับจากน้ำและอากาศ ส่วนไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม พืชต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่น ๆ (ซึ่งถูกจัดเป็นธาตุอาหารหลักหรือธาตุปุ๋ย) และในดินมักมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุเหล่านี้โดยการให้ปุ๋ย

ชนิดของ ปุ๋ย

ชนิดของปุ๋ย แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ คือปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรีย์สังเคราะห์ รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสมและปุ๋ยเชิงประกอบ และหมายความตลอดถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีผสมอยู่ด้วย แต่ไม่รวมถึงปูนขาว ดินมาร์ล ปูนพลาสเตอร์ หรือยิปซั่ม ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น

  • ปุ๋ยเชิงเดี่ยวเป็น ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักธาตุเดียว ได้แก่ ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟต หรือปุ๋ยโปแตช
  • ปุ๋ยเชิงผสมเป็นปุ๋ยเคมีที่ได้จากการผสมปุ๋ยเคมีชนิดหรือประเภทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ธาตุอาหารตามต้องการ และ
  • ปุ๋ยเชิงประกอบเป็นปุ๋ยเคมีที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมีและมีธาตุอาหารหลักอย่างน้อยสองธาตุขึ้นไป

2.ปุ๋ยอินทรีย์ หมายความว่าปุ๋ยที่ได้หรือทำจากวัสดุอินทรีย์ ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธี ทำให้ชิ้น สับ หมัก บด ร่อน สกัด หรือด้วยวิธีการอื่นและวัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายสมบูรณ์ด้วยจุลินทร์ แต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่มักจะใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน ช่วยให้ดินร่วยซุย แต่มีข้อเสียคือมีธาตุอาหารน้อยและสัดส่วนไม่แน่นอนต้องใช้ปริมาณมากจึงจะเพียงพอกับความต้องการของพืช ได้แก่

  • ปุ๋ยหมักเป็นปุ๋ยที่เกิดจากเศษพืชต่าง ๆ เช่น หญ้าและใบไม้ ต้นถั่ว ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด เปลือกถั่วต่าง ๆ ใบจามจุรี ฟางข้าว ผักตบชวา เมื่อนำมากองหมักไว้จนเน่าเปื่อยก็ใช้เป็นหมักได้
  • ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่ได้จากสิ่งที่สัตว์ขับถ่ายออกมา เช่น อุจาจาระ ปัสสาวะของสัตว์ต่าง ๆ ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน ช่วยลดอัตราการพังทลายของดิน เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน เป็นต้น
  • ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดิน เช่น พวกพืชตระกูลถั่ว เมื่อพืชเจริญเติบโตถึงระยะหนึ่ง เราก็ไถกลบในขณะที่พืชยังเขียวและสดอยู่ ซึ่งมักจะไถกลบในช่วงที่พืชกำลังออกดอก เพราะเป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การให้ธาตุอาหารแก่พืชมากที่สุด

3.ปุ๋ยชีวภาพ คือ การนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหาร หรือเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน ปุ๋ยชีวภาพอาจมีบทบาทในการปรับปรุงบำรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ และทางชีวเคมี และปุ๋ยชีวภาพยังหมายความรวมถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์ เช่น ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมและปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซา เป็นต้น

ธาตุอาหารในปุ๋ย

ธาตุอาหารในปุ๋ย หมายถึง ธาตุที่มีอยู่ในปุ๋ยและสามารถเป็นอาหารแก่พืชได้ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้

1.ธาตุอาหารหลัก คือ ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม หรือ N, P, K

2.ธาตุอาหารรอง คือ ธาตุอาหารแมกนีเซียม แคลเซียม และกำมะถัน หรือ Mg, Ca, S

3.ธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ คือ ธาตุอาหารเหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม คลอรีน หรือธาตุอาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การจำแนกปุ๋ยตามจำนวนธาตุหลัก

แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ

  • ปุ๋ยเชิงเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย คือ ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักอยู่เพียงธาตุเดียว เช่น ยูเรีย มีไนโตรเจนเพียงธาตุเดียว หรือโพแทสเซียมคลอไรด์ มีโพแทสเซียมอยู่เพียงธาตุเดียว เป็นต้น
  • ปุ๋ยเชิงผสม คือ ปุ๋ยเคมีที่ได้จากการผสมปุ๋ยเคมีชนิดหรือประเภทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ธาตุอาหารตามต้องการ
  • ปุ๋ยเชิงประกอบ คือ ปุ๋ยเคมีที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมีและมีธาตุอาหารหลักอย่างน้อยสองธาตุขึ้นไป ซึ่งการทำด้วยวิธีทางเคมีจะทำให้ธาตุอาหารในเนื้อปุ๋ยมีความสม่ำเสมอมากกว่าปุ๋ยเชิงผสม แต่โดยทั่วไปปุ๋ยเชิงประกอบก็จะมีราคาที่สูงกว่าด้วย จึงเหมาะกับพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสารอาหาร

ส่วนสูตรของปุ๋ย คือ ตัวเลข 3 ตัวโดยมีขีดคั่นกลาง เป็นตัวเลขที่ใช้บอกสัดส่วนปริมาณธาตุอาหารหลัก 3 ชนิดของปุ๋ย ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม ตามลำดับ เช่น ปุ๋ยกระสอบละ 100 กิโลกรัม สูตร 15-15-15 จะมีส่วนผสมของเนื้อธาตุไนโตรเจน 15 กิโลกรัม เนื้อธาตุฟอสฟอรัส 15 กิโลกรัม และ เนื้อธาตุโพแทสเซียม 15 กิโลกรัม

การจำแนกตามผลรวมของปริมาณธาตุอาหารรับรอง

ปุ๋ยที่จำแนกตามแนวทางนี้ แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ ปุ๋ยสูตรต่ำ กลาง สูงและเข้มข้น

  • ปุ๋ยสูตรต่ำ (low analysis fertilizer) ได้แก่ ปุ๋ยที่มีร้อยละของไนโตรเจนทั้งหมด ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ และโพแทซที่ละลายน้ำ แต่ละอย่าง หรือรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15
  • ปุ๋ยสูตรกลาง (medium analysis fertilizer) ได้แก่ ปุ๋ยที่มีร้อยละของไนโตรเจนทั้งหมด ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ และโพแทซที่ละลายน้ำ แต่ละอย่าง หรือรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15-25
  • ปุ๋ยสูตรสูง (high analysis fertilizer) ได้แก่ ปุ๋ยที่มีร้อยละของไนโตรเจนทั้งหมด ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ และโพแทซที่ละลายน้ำ แต่ละอย่าง หรือรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 26-30
  • ปุ๋ยสูตรเข้มข้น (concentrated fertilizer) ได้แก่ ปุ๋ยที่มีร้อยละของไนโตรเจนทั้งหมด ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ และโพแทซที่ละลายน้ำ แต่ละอย่าง หรือรวมกันแล้วเกินกว่าร้อยละ 30

ธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น สำหรับอาหารเสริมหรือจุลธาตุเป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณเล็กน้อย แต่พืชขาดไม่ได้มี 8 ธาตุ คือ เหล็ก (Fe), แมงกานีส (Mn), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu), โมลิบดีนัม (Mo), โบรอน (B), คลอรีน (Cl) และนิกเกิล (Ni) ในสวนไม้ผลบางพื้นที่โดยเฉพาะสวนที่มีการสะสมฟอสฟอรัสอาจจะทำให้ไม้ผลได้รับธาตุอาหารเสริมบางธาตุไม่เพียงพอ การนำปุ๋ยจุลธาตุซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยจุลธาตุเกือบทุกชนิดมาละลายน้ำ และพ่นทางใบอาจจะทำให้ไม้ผลมีการแตกใบอ่อน และใบเจริญเติบโตเร็วขึ้น ต้นมีความสมบูรณ์มากขึ้น

การเลือกซื้อปุ๋ย เกษตรกรควรคำนึงถึงคุณภาพ ราคาและความต้องการของพืช

ด้านคุณภาพ ต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร มีเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหารรับรองตรงตามที่ระบุ ไม่ชื้นและไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง กรณีเป็นปุ๋ยผสมควรมีขนาดเม็ดสม่ำเสมอ

ด้านความต้องการของพืช ปุ๋ยที่มีอัตราส่วนไนโตรเจนสูง เช่น 20-10-10 เหมาะสำหรับพืชกินใบ เร่งให้พืชแตกยอดแขนง เร่งการเจริญเติบโตของพืช ส่วนปุ๋ยที่อัตราส่วนฟอสฟอรัสสูง เช่น 12-24-12 เหมาะสำหรับเร่งการออกดอก ปรับปรุงคุณภาพผลและพืชตระกูลถั่ว สำหรับปุ๋ยที่อัตราส่วนโพแทสเซียมสูง เช่น 13-13-21 ช่วยให้ดอกไม้มีสีสดใสปรับปรุงคุณภาพของผลทั้งสีและขนาดของผล และปุ๋ยที่มีอัตราส่วนไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเท่ากันเหมาะสำหรับใช้รองพื้นไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ใช้เร่งการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตพืชทั่วๆไป

ด้านราคา ปุ๋ยราคาถูกหรือแพงไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาของปุ๋ยต่อน้ำหนัก หรือต่อบรรจุภัณฑ์ แต่ขึ้นอยู่กับเกรดปุ๋ยหรือปริมาณธาตุอาหารรับรองทั้งหมดที่มีอยู่ในปุ๋ยนั้นๆ

ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาปุ๋ยชนิดอื่นๆอีกมากมายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ เช่น ปุ๋ยละลายช้า เป็นต้น

สำหรับเรื่อง ปุ๋ย ในประเทศไทย

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเป็นอาหารพืชและบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการควบคุมปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สำหรับปุ๋ยประเทศไทยมีพระราชบัญบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ในปี 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และประกาศใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ซึ่งควบคุมการผลิต การขึ้นทะเบียน การนำเข้า การส่งออกและการจำหน่าย ตลอดจนคุณภาพและมาตรฐานของปุ๋ยเพื่อคุ้มครองเกษตรกร ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนค่อนข้างสูง กล่าวคือผู้ใดขายหรือผลิตปุ๋ยปลอม ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน หากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษ ผู้ขายปุ๋ยปลอมจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 120,000-400,000 บาท ผู้ผลิตปุ๋ยปลอมต้องระวางโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 -2,000,000 ถ้าผู้ขายไม่ทราบว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอม ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 8,000 – 80,000 บาท

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปุ๋ย

ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีคาดอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในปี 2566-2568 จะเติบโตในอัตราต่ำ โดยราคาปุ๋ยเคมีเฉลี่ยในประเทศมีแนวโน้มปรับลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ยังอยู่บนฐานที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ผลจากต้นทุนนำเข้าปุ๋ยมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่องตามราคาพลังงาน ขณะที่ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก

  • เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง หนุนความต้องการบริโภคพืชอาหารเพิ่มขึ้น
  • เกษตรกรมีแนวโน้มขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมันจากราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ
  • คาดสภาพอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปุ๋ยอาจปรับลดลงบ้างในปี 2567 และ 2568 จากการเริ่มเข้าสู่ภาวะ “เอลนีโญ” หรือภาวะฝนตกน้อยกว่าปกติ

สำหรับผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้และเสริมความยั่งยืนทางธุรกิจ ได้แก่ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อาทิ ปุ๋ยสั่งตัด การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้า และการขยายตลาดส่งออกใน CLMV ที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยท้าทายจะมาจากแรงกดดันด้านต้นทุนนำเข้าแม่ปุ๋ยที่ทรงตัวในระดับสูงตามราคาพลังงาน ขณะที่การปรับขึ้นราคาปุ๋ยทำได้จำกัด จึงมีผลต่อการทำกำไรของผู้ประกอบการ

ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีในประเทศที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจ (ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2565) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,016 ราย (เพิ่มขึ้น 26% จากสิ้นปี 2564) หรือ 1,002 ราย เป็นผู้ผลิตรายกลาง รายเล็กและรายย่อย ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่มีเพียง 14 ราย (1.4%) แต่มีรายได้รวมกันประมาณ 75% ของรายได้ทั้งหมด เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และมีช่องทางการจำหน่ายปุ๋ยเคมีให้แก่ภาครัฐผ่านวิธีการประมูลราคา ทั้งยังมีการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ผลิตรายกลาง รายเล็กและรายย่อยจะมีข้อจำกัดในการขยายปริมาณการผลิต เนื่องจากคุณภาพปุ๋ยที่ได้มักไม่สม่ำเสมอสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าปุ๋ยเคมีการเกษตร (ขายส่งปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร) มีจำนวน 4,074 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายกลาง รายเล็กและรายย่อย สัดส่วนรวมกัน 98.0% กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่สูง และลักษณะการดำเนินธุรกิจไม่ซับซ้อน เป็นการซื้อมา-ขายไปโดยจัดหาสินค้าจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าในประเทศ การเข้า-ออกจากธุรกิจจึงทำได้ง่าย บางรายเป็นทั้งผู้ขายส่งและขายปลีก ซึ่งอาจมีการ Re-export ไปต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน การแข่งขันของธุรกิจจึงค่อนข้างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่ (ประมาณ 2.0%) จะมีความได้เปรียบด้านการตลาด เนื่องจาก

  • ต้นทุนต่ำจากการสั่งซื้อในปริมาณมาก อีกทั้งส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์หรือเป็นเครือข่ายกับผู้ผลิตปุ๋ย จึงสามารถต่อรองราคารับซื้อ
  • มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรในพื้นที่และมีอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อในท้องถิ่น
  • มีผลิตภัณฑ์หลากหลายรองรับความต้องการของเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลายประเภทตามฤดูกาลจึงสามารถจำหน่ายสินค้าได้เกือบตลอดปี

ข้อมูลพื้นฐานอุตสาหากรรมปุ๋ยเคมีของไทย

อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีของไทยอยู่ในขั้นปลายที่ต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด แบ่งออกเป็น

1. การนำเข้าแม่ปุ๋ย (ปี 2564 มีสัดส่วน 66.1% ของปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด) อาทิ ปุ๋ยไนโตรเจน (สัดส่วน 48.6%) นำเข้าจากซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย จีน โอมาน และกาตาร์ ปุ๋ยฟอสฟอรัส (สัดส่วน 0.1%) นำเข้าจากอียิปต์และจีน และปุ๋ยโพแทสเซียม (สัดส่วน 17.4%) นำเข้าจากแคนาดา เบลารุส อิสราเอล และเยอรมนี  โดยผู้ผลิตจะนำเข้าแม่ปุ๋ยมาผสมกับสารเติมเต็มให้ได้ปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหาร (ตั้งแต่สองธาตุขึ้นไป) ตามสูตรของผู้ผลิตแต่ละราย ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในประเทศ ขณะที่การส่งออกมีเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 5% ของผลผลิตปุ๋ยเคมี) ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (สัดส่วนรวมกัน 80.0% ของปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมีทั้งหมด) ทั้งนี้ การผลิตแม่ปุ๋ยเคมีในประเทศไทยจะทำได้เพียงบางประเภท อาทิ แอมโมเนีย และแอมโมเนียมซัลเฟต มีปริมาณการผลิตประมาณ 8 แสนตันต่อปี

2. การนำเข้าปุ๋ยเคมีสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูป (สัดส่วน 33.9%) มาผสมกันและจำหน่ายต่อไปยังร้านค้าส่งและค้าปลีก โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ จีน รัสเซีย นอร์เวย์ และเกาหลีใต้ 

ปุ๋ยเคมีที่ใช้กันมากในภาคเกษตรกรรมของไทย 

ได้แก่ (1) แม่ปุ๋ย (ปุ๋ยเชิงเดี่ยวและปุ๋ยเชิงประกอบ) ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (18-46-0) และ (2) ปุ๋ยผสมหรือปุ๋ยสูตรต่างๆ ได้แก่ สูตร 16-20-0 สูตร 15-15-15 สูตร 16-16-8 และสูตร 13-13-21 ปุ๋ยทั้ง 8 สูตรข้างต้นมีปริมาณการใช้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด เนื่องจากใช้ได้กับพืชทุกชนิดทั้งนาข้าว พืชไร่ ไม้ผล รวมทั้งพืชผักชนิดต่างๆ และเป็นปุ๋ยเคมีสูตรหลักที่มีการนำเข้ารวมกันมากกว่า 80% ของปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด โดยปุ๋ยที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550

การวิเคราะห์ ปุ๋ย

ห้องปฎิบัติการจะต้องใช้วิธีทดสอบตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี พ.ศ. 2559 และต้องเป็นห้องปฎิบัติการที่มีคุณสมบัติ ผ่านการตรวจประเมินและกรมวิชาการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนและประกาศรายชื่อให้เป็นห้องปฎิบัติการที่ได้รับการกำหนดให้เป็นห้องปฎิบัติการตรวจปุ๋ยประเภทนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันกรมกำหนดให้มีห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรองจำนวน 4 ขอบข่าย คือ
ขอบข่ายที่1 (ปุ๋ยเคมีธาตุหลัก)
ขอบข่ายที่ 2 (ปุ๋ยเคมีธาตุรอง)
ขอบข่ายที่3 (ปุ๋ยเคมีที่เป็นธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ)
ขอบข่ายที่4 (ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดเกณฑ์คลาดเคลื่อนของปริมาณธาตุอาหารรับรองของปุ๋ยไว้ดังนี้ปัจจุบัน AMARC ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จาก กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุข ในขอบข่ายของ ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศรายชื่อให้เป็นห้องปฎิบัติการที่ได้รับการกำหนดให้เป็นห้องปฎิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ยขอบข่ายที่ 1 และขอบข่ายที่ 2 จากกรมวิชาการเกษตรซึ่งมีรายละเอียดแสดงในตารางดังนี้

รายการตรวจวิเคราะห์ปุ๋ยขอบข่ายที่ 1รายการตรวจวิเคราะห์ปุ๋ยขอบข่ายที่ 2เอกสารอ้างอิง: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. สรุปพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่2)พ.ศ.2550

: กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
: กรมส่งเสริมการเกษตร
: ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC