ปัจจุบันนี้มลภาวะต่างๆ เช่น ควันรถ ฝุ่น หรือแสงแดด สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการทำลายสุขภาพผิวทำให้สุขภาพผิวเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของโลกในปัจจุบัน ทำให้ภาวะแวดล้อมดูจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายผิวในทางที่เลวร้ายลง ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
เมื่อผิวของเราต้องการการดูแลเอาใจใส่ มักจะมาจากการสังเกตของเนื้อผิวว่าผิวเริ่มแห้งหรือดูหม่นคล้ำ และหากอายุเยอะขึ้น ผิวของผู้ที่เริ่มสูงอายุอาจจะมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่ามากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเมื่ออาบน้ำทำความสะอาดผิวแล้ว ก็มักจะตามด้วยการทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นผิว ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นเครื่องสำอางขั้นต้นหรือเรียกว่าเครื่องสำอางพื้นฐานที่คนทั่วไปควรใช้ในชีวิตประจำวัน ในที่นี้ยังไม่ได้กล่าวถึงเครื่องสำอางสำหรับต้านริ้วรอยหรือเครื่องสำอางที่มีสารไวท์เทนนิ่งที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะหรือสำหรับใช้ในคนบางกลุ่ม
โลชั่น หรือ ครีมทาผิว คืออะไร
โลชั่น (Lotion) หรือครีมทาผิว คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนประกอบทั้งน้ำมันและน้ำ ผ่านกระบวนการที่รวมเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเนื้อครีมที่มีความข้น ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งเวลาเช้าและกลางคืน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของแต่ละผลิตภัณฑ์ และขึ้นอยู่กับสภาพผิวที่มีความแตกต่างของแต่ละคน สิ่งสำคัญของผลิตภัณฑ์ครีมทาผิว ไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว แต่ยังช่วยเสริมเกราะปกป้องผิว ช่วยปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ และฟื้นบำรุงผิวหยาบกร้านให้เนียนนุ่ม สิ่งเหล่านี้เป็นการดูแลผิวนั่นเอง
ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นผิวนั้นมีอยู่หลากหลายยี่ห้อในท้องตลาด มีส่วนประกอบของสารสำคัญและสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบที่คล้ายคลึงกัน หรือแตกต่างกันบ้าง และมีหลายระดับราคา ซึ่งเราก็อาจจะเลือกซื้อมาใช้ด้วยเคยได้รับคำแนะนำจากคนใกล้ชิด จากโฆษณาทางสื่อต่างๆ จากการอ่านรีวิวประสบการณ์การใช้สินค้านั้นๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในการเลือกใช้ สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การใช้เครื่องสำอางแล้ว มักให้การระวังในเรื่องของการแพ้ หรือเกิดอาการระคายเคือง โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหาเรื่องผิวบอบบางแพ้ง่าย ซึ่งจะต้องทราบสาเหตุหรือสารที่ทำให้แพ้ หรือระคายเคืองจึงจะทำให้หลีกเลี่ยงได้ โดยในการค้นหาสาเหตุนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทราบสาเหตุเพื่อดูแลผิวกายอย่างถูกต้องได้
ลักษณะของครีมจะมีความหนืดสูง ค่อนข้างคงรูป สามารถบรรจุในกระปุกหรือหลอดหรือขวดได้ เนื้อครีมมีความทึบแสง ส่วนโลชั่นบำรุงผิวก็มักจะมีเนื้อที่ทึบแสงเช่นเดียวกัน มีความหนืดต่ำจึงทำให้ดูเหลว ไม่เหมาะบรรจุในกระปุกเพราะหากเอียงกระปุกจะหกออกมาง่าย มักจะบรรจุในขวดที่มีหัวปั๊มเพื่อสะดวกในการใช้งาน หรือบรรจุในหลอดก็พบได้เช่นกัน ซึ่งหากบรรจุเนื้อสารที่เหลวมาก หลอดที่ใช้บรรจุอาจเลือกแบบรูหลอดที่แคบลง อย่างไรก็ตามครีมหรือโลชั่นจะมีความเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ โดยต่างกันที่ความหนืดซึ่งเป็นผลมาจากสัดส่วนของส่วนผสมในสูตร ขั้นตอน หรือเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต เป็นต้น ในความเหมือนนั้นคืออยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า อิมัลชั่น (Emulsion) เป็นรูปแบบที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะเภสัชกรก็จะคุ้นเคยกับยาที่ต้องเตรียมในรูปแบบอิมัลชั่น
อิมัลชั่น ( Emulsion ) ส่วนผสมหลักที่อยู่ใน โลชั่น
อิมัลชั่น (Emulsion) หมายถึง ผลิตภัณฑ์รูปแบบหนึ่ง ที่ประกอบด้วยของเหลวอย่างน้อย 2 ชนิด ซึ่งไม่เข้ากัน หรือไม่ละลายในกันและกัน (เช่น น้ำและน้ำมัน) อิมัลชั่นจะประกอบด้วย 3 สิ่งหลักๆ ได้แก่ น้ำมัน (Oil), น้ำ (Water) และสารทำอิมัลชั่น (Emulsifier) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยประสานให้น้ำมันและน้ำเข้ากันได้ระดับนึง ไม่แยกออกจากกันโดยเร็ว
โดยทั่วไปในการผลิตมักจะให้ความร้อนกับส่วนของน้ำและน้ำมันที่แยกกันอยู่คนละถัง สารทำอิมัลชั่นก็อาจเลือกใส่ในถังน้ำหรือน้ำมันขึ้นกับสูตรนั้นๆ เมื่อได้อุณหภูมิที่กำหนด ก็จะเทผสมเข้ากันพร้อมกับมีใบพัดที่ช่วยกวนหรือตีผสม และอาจใช้เครื่องผสมเพื่อลดขนาดที่เรียกว่า เครื่องโฮโมจีไนซ์ (Homogenizer) ทำให้ได้เป็นหยดขนาดเล็กกระจายทั่ว
อิมัลชั่นนี้มีอยู่ 2 ชนิดที่เจอบ่อย คือ ชนิดน้ำมันในน้ำ (Oil in water, o/w) และชนิดน้ำในน้ำมัน (Water in oil, w/o) สูตรที่แตกต่างกันนี้มีผลมาจากชนิดสารทำอิมัลชั่นที่ใช้ และสัดส่วนของน้ำและน้ำมันที่ใช้ในสูตร สูตรที่เป็นชนิดน้ำมันในน้ำจะล้างออกได้ง่ายกว่า มีความเหนอะหนะน้อยกว่าสูตรที่เป็นชนิดน้ำในน้ำมัน
ถึงแม้สูตรน้ำในน้ำมันอาจจะให้ความรู้สึกเหนอะหนะผิวมากกว่า แต่จะมีประสิทธิภาพในการเคลือบคลุมผิวหรือปกป้องไม่ให้น้ำระเหยออกจากผิวได้ดีกว่า ซึ่งเป็นกลไกอันหนึ่งที่ช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้นอยู่ได้ ผู้บริโภคมักเลือกซื้อโดยการทดลองใช้และชั่งความรู้สึกถึงความชอบเนื้อสัมผัส การซึมซาบผิว กลิ่น และประโยชน์ที่จะได้รับ
สรุปแล้ว โลชั่น ทำให้ผิวชุ่มชื้น ?
สารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในอิมัลชั่นดังที่กล่าวถึงในตอนต้น คือ น้ำ และน้ำมัน ซึ่งมันช่วยทำให้ผิวเรียบและนุ่ม โดยไปทดแทนไขมันที่สูญเสียไปจากการอาบน้ำหรือชำระล้าง และเพิ่มความชุ่มชื้นโดยเคลือบคลุมผิวไว้ ปกป้องไม่ให้น้ำระเหยออกจากผิว ตัวอย่างของน้ำมันที่ใช้ เช่u Mineral Oil, Petrolatum, Squalene, Isopropyl Palmitate, Jojoba Oil, Avocado Oil, Shea Butter, Steric Acid, Lecithin และยังมีน้ำมันอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
สารในกลุ่มของน้ำมันนี้ หากสังเกตจากฉลากเครื่องสำอางในหัวข้อส่วนประกอบ (Ingredients) นั้น จะพบว่าผู้คิดค้นสูตรตำรับ (Formulator) จะใช้น้ำมันหลายชนิดมาผสมกัน ให้ได้คุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการให้ความรู้สึกสัมผัส หรือความคงสภาพตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีสารที่เพิ่มความชุ่มชื้นผิวโดยคุณสมบัติของการอุ้มน้ำเอาไว้ในผิว สารเหล่านี้เป็นสารที่ละลายในน้ำได้ เช่น Glycerin, Propylene Glycol, Sorbitol, Honey และยังมีที่ไม่ได้กล่าวถึง
สารที่ละลายได้ในน้ำเหล่านี้จะละลายเข้ากับน้ำ ก่อนที่จะนำไปผสมกับส่วนผสมของน้ำมัน ดังในขั้นตอนการผลิตที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น หากเป็นสารที่ไม่ทนความร้อน คือ เมื่อโดนความร้อนแล้วจะเกิดการสลายตัวจะแก้ปัญหาโดยผสมสารนั้นๆ เข้าไปในขั้นตอนที่หลังจากส่วนน้ำและส่วนน้ำมันผสมกันเป็นอิมัลชั่นแล้ว และเย็นลงแล้วจึงผสมเข้าไปในเวลานั้น
สารบางชนิดที่กล่าวมานี้ เช่น Lecithin, Cholesterol, Ceramide, Peptides เป็นสารที่มีราคาปานกลางจนถึงสูง ทำให้เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อราคาของผลิตภัณฑ์ นอกจากชนิดของสารที่ใช้แล้วปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อราคาผลิตภัณฑ์อีก เช่น ปริมาณที่ใช้ สารปรุงแต่งที่ใช้ (เช่น สี กลิ่น) กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ การโฆษณาและการตลาด
หากท่านใดไม่ได้มีปัญหาของผิวพรรณที่ชับช้อน มีผิวแห้งเล็กน้อย ก็สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่จำเป็นต้องมีราคาสูงก็อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวได้แล้ว นอกจากนี้ท่านอาจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม หรือปรึกษาเภสัชกรในเรื่องของผิวและสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ได้
ครีมบำรุงผิว กับตลาดไทยที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยทั้งส่วนตัวและส่วนรวมมากขึ้น ในปี 2562 อุตสาหกรรมความงามในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตที่ 6.7% ด้วยมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.18 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยอันดับ 1 คือ Skincare 42%
ในตลาดความงามทั่วโลกปัจจุบันมีความหลากหลายและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดมีอัตราการเติบโตที่มากขึ้นจากการที่ผู้บริโภคมีการแชร์ประสบการณ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือเข้าถึงและศึกษากลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลตนเองมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้เวลากับตนเองมากขึ้นในช่วงโควิด-19
ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดความงามมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.447 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้สูงที่สุดที่ 57.5 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม Statista เว็บไซต์สำรวจและวิจัยตลาด พบสถิติว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม สุขภาพ ครัวเรือน และ การดูแลส่วนบุคคล ของ “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีมูลค่าถึง 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 16% ต่อปีในช่วงปี 2565-2569
ขณะที่ผลการวิจัยเชิงลึกของ WGSN (World Global Style Network) เปิดเผยรายงานวิเคราะห์ การจัดอันดับเทรนด์ความงาม “ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จากการคาดการณ์แนวโน้มของผู้บริโภคในช่วง 18-24 เดือน พบว่า สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกประเทศในเอเชียให้ความสำคัญ
โดยเฉพาะ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ อินเดีย ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ “ความปลอดภัยและความเป็นของแท้ของผลิตภัณฑ์” เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีสินค้าลอกเลียนแบบและกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นอันตราย ผลิตภัณฑ์สำหรับ “ปัญหาผิวขาดน้ำและผมร่วง” ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน จึงเป็นที่ต้องการและเปิดโอกาสให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกก้าวเข้ามาเติมเต็มตลาดที่ยังขาดแคลนผลิตภัณฑ์ในส่วนนี้
สำหรับ ผู้บริโภคในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับ สุขภาพผิว เป็นอันดับแรก เนื่องจากผู้บริโภคหันมาสนใจ เวชสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่สะอาดและเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังกังวลเกี่ยวกับ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีนวัตกรรมที่น่าเชื่อถือ และมีจริยธรรม
ลักษณะประเภทที่แตกต่างกัน ของโลชั่น
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ควรเลือกครีมบำรุงที่เหมาะสมกับลักษณะผิวของตนเอง โดยครีมบำรุงที่จำหน่ายตามท้องตลาดมีหลายชนิดและรูปแบบ ทั้งโลชั่น สเปรย์ ครีม และขี้ผึ้ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ดังนี้
- โลชั่น เหมาะกับผิวที่มีขนดกหรือผิวบริเวณที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบ เพราะโลชั่นมีเนื้อบางเบา ทำให้เกลี่ยได้ง่าย แต่มีความเข้มข้นค่อนข้างน้อย
- ครีม เนื้อครีมมีลักษณะไม่มันเยิ้มจนเกินไปและสามารถซึมเข้าสู่ผิวได้รวดเร็ว จึงเหมาะสำหรับใช้ทาระหว่างวัน
- สเปรย์ เหมาะสำหรับฉีดพ่นผิวบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก และผิวที่มีอาการอักเสบหรือติดเชื้อซึ่งไม่ควรใช้มือสัมผัส
- ขี้ผึ้ง เหมาะกับผิวแพ้ง่ายและผิวแห้งกร้าน เพราะส่วนใหญ่ครีมชนิดนี้ไม่มีส่วนผสมของสารกันบูดและยังมีความเข้มข้นสูงด้วย เมื่อชโลมลงบนผิวอาจทำให้รู้สึกมันและลื่น จึงควรใช้ก่อนเข้านอนและไม่ควรใช้กับผิวบริเวณที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบ
ส่วนผสมของครีมบำรุงผิว
ในปัจจุบันมีครีมบำรุงผิวให้เลือกใช้หลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้ออาจมีสี กลิ่น และสารบางชนิดแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปมักประกอบด้วยส่วนผสมต่อไปนี้
- น้ำ หลายคนอาจคิดว่าครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของน้ำมันปริมาณมากจะช่วยฟื้นฟูผิวที่แห้งได้ดี แต่จริงๆ แล้วน้ำมันไม่ได้ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นขึ้นได้เหมือนน้ำ เพราะผิวแห้งกร้านเกิดจากการขาดน้ำ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำปริมาณมากจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าในการเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ซึ่งครีมบำรุงส่วนใหญ่เป็นสารประกอบระหว่างน้ำกับน้ำมัน เพราะน้ำจะระเหยไปอย่างรวดเร็วเมื่อทาลงบนผิว จึงจำเป็นต้องมีน้ำมันช่วยโอบอุ้มน้ำเอาไว้ให้ผิวดูดซึมน้ำในครีมได้มากขึ้น
- สารป้องกันการระเหยของน้ำ เป็นส่วนผสมที่ช่วยให้น้ำในครีมบำรุงระเหยช้าลง เช่น ปิโตรเลียม เซตทิลแอลกอฮอล์ (Cetyl Alcohol) ลาโนลิน (Lanolin) พาราฟิน (Paraffin) เลซิทิน (Lecithin) กรดสเตียริก (Stearic Acid) น้ำมันจากแร่ธาตุ (Mineral Oil) และซิลิโคน เป็นต้น ส่วนครีมบำรุงผิวที่อ้างว่าไม่มีส่วนผสมของน้ำมันหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมันจากแร่ธาตุและน้ำมันจากพืช แต่อาจใช้ซิลิโคนเป็นสารป้องกันการระเหยของน้ำแทน
- สารดูดความชุ่มชื้น มีคุณสมบัติดูดความชุ่มชื้นจากอากาศและชั้นหนังแท้มาไว้ที่ชั้นหนังกำพร้า เช่น กลีเซอรีน (Glycerin) น้ำผึ้ง วิตามินบี 5 ซอร์บิทอล (Sorbitol) และยูเรีย (Urea) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวอาจส่งผลให้ผิวแห้งมากขึ้นหากหนังกำพร้าไม่สามารถกักเก็บน้ำที่ดูดซึมมาได้ จึงจำเป็นต้องมีสารป้องกันการระเหยของน้ำช่วยโอบอุ้มน้ำไว้ที่หนังกำพร้าด้วย
- สารเคลือบร่องผิวหนังชั้นบน เป็นสารที่ช่วยให้ผิวเรียบลื่น ซึ่งซิลิโคนและสารดูดความชุ่มชื้นบางชนิดในครีมบำรุงก็อาจมีคุณสมบัติช่วยเคลือบร่องผิวหนังชั้นบนได้เช่นกัน
- วิตามิน กรดเรทิโนอิก (Retinoic Acid) เป็นวิตามินเอชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติช่วยลดเลือนริ้วรอยโดยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจน (Collagen) แต่ผู้ประกอบการบางรายอาจใช้วิตามินเอในรูปของเรทินิลปาล์มมิเทต (Retinyl Palmitate) ซึ่งไม่มีคุณสมบัติลดเลือนริ้วรอยแต่ทำหน้าที่คล้ายสารดูดความชุ่มชื้น และครีมบำรุงบางยี่ห้ออาจมีวิตามินซีหรือวิตามินอีเป็นส่วนประกอบ เพราะเชื่อว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่อาจส่งผลดีต่อผิว อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมภายนอกก็อาจทำให้ประสิทธิภาพในการบำรุงผิวของวิตามินทั้ง 2 ชนิดนี้ลดลงไปได้เช่นกัน
- เมนทอล สารชนิดนี้มักเป็นส่วนประกอบในครีมบำรุงที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการคัน เพราะให้ความรู้สึกเย็นหลังทาซึ่งอาจช่วยลดอาการคันได้
การเลือกใช้ โลชั่น ให้เหมาะกับสภาพผิว
- ผิวทั่วไป หากผิวไม่มันและไม่แห้งจนเกินไป ควรเลือกใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำและซิลิโคนชนิดเบา เช่น ไซโคลเมทิโคน (Cyclomethicone) เพราะมีเนื้อบางเบาและไม่เหนียวเหนอะหนะ
- ผิวมัน หลายคนมองว่าผิวมันไม่จำเป็นต้องใช้ครีมบำรุง แต่ผู้ที่มีผิวมันควรใช้ครีมบำรุงเพื่อปกป้องผิวหลังล้างหน้าหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น โดยเลือกครีมเนื้อโลชั่นที่ระบุไว้ว่าไม่อุดตันรูขุมขน เพื่อลดโอกาสการเกิดสิว
- ผิวแห้ง เหมาะกับครีมบำรุงที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำมัน และควรใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวที่ทำมาจากปิโตรเลียมบนผิวหนังบริเวณที่แห้งและหยาบกร้านมาก เพราะมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ที่ผิวได้นาน
- ผิวแพ้ง่าย เป็นผิวที่ไวต่อสิ่งรบกวนภายนอก โดยเฉพาะสารเคมีและสภาพอากาศ ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคือง มีผื่นแดง ตุ่มนูน รู้สึกคัน หรือแสบผิวได้ง่าย จึงควรเลือกครีมบำรุงผิวที่ใช้ส่วนผสมหลักจากธรรมชาติและอ่อนโยนต่อผิว เช่น คาโมมายล์ ว่านหางจระเข้ เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ครีมที่แต่งสีแต่งกลิ่นหรือมีกรดเป็นส่วนประกอบ
- ผิวผู้สูงวัย อายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนังลดลงจนผิวแห้งแตกมากขึ้น จึงควรเลือกครีมบำรุงที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำมันและปิโตรเลียม เพื่อคงความเนียนนุ่มและชุ่มชื้นแก่ผิว และครีมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหรือเอเอชเอ (AHA) เป็นส่วนประกอบ เพื่อชะลอการเกิดริ้วรอย
การใช้โลชั่นอย่างถูกวิธี
นอกจากการเลือกใช้โลชั่นให้เหมาะกับสภาพผิวแล้ว เราควรใช้ครีมบำรุงอย่างถูกวิธี เพื่อประสิทธิภาพในการบำรุงและปกป้องผิวที่ดีที่สุด ดังนี้
- ครีมบำรุงชนิดไม่ต้องล้างออก ให้ทาลงไปบนผิวเบาๆ ในทิศทางเดียวกับขน เพื่อป้องกันเนื้อครีมอุดตันรูขุมขน และสามารถทาซ้ำได้เมื่อรู้สึกว่าผิวขาดความชุ่มชื้น
- ครีมบำรุงชนิดล้างออก ให้ใช้ครีมประมาณ 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำอุ่น แล้วลูบไล้ให้ทั่วผิว โดยไม่ควรใช้ครีมขณะผิวเปียก จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดและเช็ดเบาๆ จนแห้ง
- ครีมบำรุงชนิดผสมในอ่างอาบน้ำ ให้ผสมครีมบำรุงกับน้ำอุ่นแล้วลงไปแช่ในอ่างอย่างน้อย 10 นาที จากนั้นจึงซับผิวให้แห้ง โดยควรใช้ครีมตามปริมาณที่ฉลากกำหนดอย่างเคร่งครัด และไม่ควรทาครีมชนิดนี้ลงบนผิวโดยตรง เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของครีมลดลงได้
ผลข้างเคียงของครีมบำรุง
บางท่านอาจมีการแพ้ฉะนั้นการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตนเองถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยทั่วไปแล้วการใช้ครีมบำรุงนั้นค่อนข้างปลอดภัยหากใช้อย่างถูกวิธีและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์เสมอ แต่ในบางครั้งอาจเกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น มีผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง รูขุมขนอุดตันหรือรูขุมขนอักเสบจนอาจก่อให้เกิดสิวตามมาได้ เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวหลังจากใช้ครีมบำรุง ให้หยุดใช้ครีมทันทีและรีบไปพบแพทย์
ข้อควรระวังในการใช้ครีมบำรุง
เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ครีมบำรุง ผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ไม่ควรใช้ครีมบำรุงในปริมาณมากกว่าที่ฉลากกำหนด เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้
- ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของน้ำมันและพาราฟินอาจติดไฟได้ จึงควรเก็บในภาชนะที่บรรจุครีม รวมถึงเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนที่เปื้อนครีมให้ห่างจากแหล่งกำเนิดไฟหรือจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดประกายไฟ
- ใช้ช้อนหรือไม้พายตักครีมออกจากกระปุกแทนการใช้มือ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกจากมือปนเปื้อนในเนื้อครีม
นอกจากราคาและประสิทธิภาพแล้ว ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางให้ปลอดภัย ควรอ่านฉลากเครื่องสำอางให้ละเอียด ฉลากต้องมีชื่อเครื่องสำอาง เลขที่ใบรับแจ้ง(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบและออกเลขให้) ชื่อผู้ผลิตและสถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วิธีใช้ ส่วนประกอบ และปริมาณสุทธิ สุดท้ายนี้การศึกษาผลิตภัณฑ์ให้ทะลุปรุโปร่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกใช้หรือเลือกซื้อได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ท่านต้องการ
AMARC ให้บริการตรวจวิเคราะห์ โลชั่น ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวดังนี้
1. ตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน เช่น ตะกั่ว (Lead), สารหนู (Arsenic), ปรอท (Mercury) และแคดเมี่ยม (Cadmium) เป็นต้น
2. ตรวจวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์ (Microbial limit test) เช่น จำนวนจุลินทรีย์แอโรบิกทั้งหมด (Total aerobic microbial count), จำนวนยีสต์และราทั้งหมด (Total combined yeast and mold count), ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa), สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans), คลอสทริเดียม (Clostridium spp.) เป็นต้น
3. ตรวจวิเคราะห์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารกันเสียที่เติมในผลิตภัณฑ์ (Antimicrobial Effectiveness Testing) ใช้เชื้อตามเกณฑ์ของลูกค้า หรือตามวิธีของ USP/EP/BP โดยเชื้อที่ทดสอบ 5 เชื้อดังนี้
- แอสเปอร์จิลลัส บราซิลเลนซิส (Aspergillus brasiliensis)
- แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)
- เอสเชอริเชียโคไล (Escherichia coli)
- ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa)
- สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
4. ตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญ เช่น Cannabidiol (CBD) และ Delta9-Tetrahydrocannabinol (Δ9-THC) เป็นต้น
5. ตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่ม Terpene 14 รายการ
สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC
ที่มาข้อมูล : Chemtrack ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี
: bltbangkok
: กรุงเทพธุรกิจ
: Pobpad
: Faculty of Pharmacy มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
: marketeeronline