จับทิศทางการเติบโตของ ‘AMARC’ แล็บด้านเกษตร อาหาร ยา ครบวงจรของไทย หลังเดินหน้าเทรด mai เปิดขาย IPO 120 ล้านหุ้น

มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย คือหัวใจสำคัญของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มอาหารและยา ด้วยเหตุนี้เอง แล็บวิเคราะห์ รายงาน และรับรองผลด้านเกษตร อาหาร ยา สมุนไพร ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทั้งมาตรฐานในประเทศและระดับสากล จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะไม่เพียงตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าจะปลอดภัยต่อร่างกายของผู้บริโภค ในแง่ของคนทำธุรกิจเอง มาตรฐานและความปลอดภัยยังช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ

ในประเทศไทย หนึ่งในผู้ให้บริการที่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มเกษตรกรเพาะปลูก ประมง และปศุสัตว์ ผู้ผลิต โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานแปรรูป ผู้จัดจำหน่าย และผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหาร และยา ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อย จนถึงบริษัทชั้นนำของประเทศ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาครัฐ นั่นก็คือ AMARC (เอมาร์ค) หรือ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) (Asia Medical and Agricultural Laboratory and Research Center)

และดูเหมือนว่าตอนนี้ AMARC กำลังถูกจับตาจากกลุ่มนักลงทุน หลังประกาศขาย IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น คาดเตรียมเทรดบนกระดาน mai วันที่ 19 ตุลาคม ในหมวดธุรกิจบริการ ในชื่อหลักทรัพย์ AMARC (เอมาร์ค)

AMARC (เอมาร์ค) คือใคร ทำไมจึงน่าลงทุน 

AMARC ถือได้ว่าเป็นศูนย์ห้องปฏิบัติการหรือแล็บที่ให้บริการทางวิทยาศาสตร์ด้านเกษตร อาหาร ยา ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานสากล ที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 โดยกลุ่มแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ของโรงพยาบาลลาดพร้าว ปัจจุบันให้บริการใน 5 หลัก ได้แก่

  • ตรวจวิเคราะห์ และรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร
  • ตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และความปลอดภัยของน้ำ ดิน ปุ๋ย และวัตถุอันตรายทางการเกษตร
  • ตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบ และงาน R&D ของผลิตภัณฑ์ยา
  • ให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแล็บ​ โรงงาน และโรงพยาบาล
  • ตรวจและรับรองฟาร์ม และโรงงาน ในกลุ่มเกษตร ประมง และอาหาร

ดร.ชินดนัย ไชยยอง กรรมการผู้จัดการ AMARC เผยว่า “ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง เรามีพันธกิจที่จะเป็นแล็บชั้นนำของเอเซีย ให้สมกับชื่อ ‘Asia Medical and Agricultural Laboratory and Research Center’ เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าไปสู่เวทีโลกได้ ซึ่งหากย้อนดูการเติบโตของเราตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2547 จนถึงวันนี้กว่า 18 ปี เราเน้นไปที่การขยายการบริการที่หลากหลายไปพร้อมๆ กับการสร้างความน่าเชื่อของการทดสอบในระดับภูมิภาค ให้บริการครบวงจรทั้งการทดสอบ สอบเทียบเครื่องมือ มีหน่วยตรวจ หน่วยรับรอง ที่ครอบคลุมทั้ง ยา อาหาร การเกษตร และความหลากหลายของมาตรฐานสินค้าและกระบวนการผลิต เช่น GMP, HACCP และ GAP

“Asset Size ขยายทุกปี เพราะพอได้กำไรมาเราก็ไปซื้อเครื่องมือ ลงทุนกับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสโคปงาน เรามองว่าตลาดนี้ยังโตได้อีกและก็โตขึ้นทุกปี”

ในขณะที่ทิศทางอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต AMARC จึงวางกลยุทธ์ขยายการเติบโตเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด ปัจจุบัน AMARC มีแล็บที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นแล็บเคมี, แล็บจุลชีววิทยา, แล็บสิ่งปลอมปนและอณูชีววิทยา, แล็บยาและสมุนไพร, แล็บปัจจัยผลิตทางการเกษตร, แล็บวัตถุอันตราย, ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง รวมถึงทีมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายแขนงกว่า 150 ชีวิต

“4ปีที่ผ่านมา AMARC เติบโตเฉลี่ยที่ 15% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมด้านเกษตรอาหารเติบโตประมาณ 8-10% เท่านั้น ดังนั้น ยิ่งเราขยายสเกลของธุรกิจให้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้มากขึ้น จุดแข็งของเรานอกจากความพร้อมในทุกด้าน มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 18 ปี การถ่ายโอนงานของภาครัฐก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องขยายธุรกิจเพื่อรองรับงานแบบ Comprehensive Supply Chain Service สำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ในฐานะ Third Party ที่ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เราเพียงต้องการช่วยให้สินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยได้รับการควบคุมคุณภาพ เพื่อร่วมสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ หน้าที่ของเราคือ ตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับรองผล เมื่อผ่านการตรวจสอบก็ออก Certificate of Analysis หรือใบรายงานผลการทดสอบ ผู้ประกอบการก็สามารถนำใบรายงานผลนี้ไปดำเนินการต่อตามวัตถุประสงค์ของเขาได้”

เหตุผลที่ AMARC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ดร.ชินดนัยบอกว่า AMARC เตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มาตั้งแต่ปี 2555 ตั้งแต่เรื่องความโปร่งใส ด้านบัญชี สต๊อกสินค้า จัดโครงสร้างภายในให้ชัดเจน ฯลฯ เพราะมองว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และโอกาสในการเติบโต ยกระดับองค์กรให้มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล

เมื่อมองภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2564) AMARC มีรายได้รวม 198.04 ล้านบาท, 220.19 ล้านบาท และ 248.55 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่มีกำไรสุทธิ 18.19 ล้านบาท, 28.43 ล้านบาท และ 24.86 ล้านบาทตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 9.19%, 12.91% และ 10.00% ตามลำดับ นอกจากนี้อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 2562-2564 ของรายได้รวมและกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 12.03% และ 16.91% ตามลำดับ ขณะที่รายได้รวมในงวดไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 64.40 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 6.00 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 9.32%

ดร.ชินดนัยอธิบายเสริมว่า ปี 2563-2564 ที่เห็นการเติบโตลดลงเหลือ 12% เนื่องจากลูกค้าส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด “ลูกค้าบางรายต้องลดการผลิตลง บางส่วนมีปัญหาด้านการขนส่ง เมื่อการผลิตลดลงทำให้การส่งออกลดตาม การส่งตรวจก็น้อยลงไปด้วย แต่ขณะเดียวกัน ปัจจัยบวกด้านอื่นๆ ก็เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด ความต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น แปรผันไปในทิศทางเดียวกับมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์หรือได้มาตรฐาน กระบวนการตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การจัดการของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงปัจจัยการผลิตต่างๆ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องได้รับการทดสอบและตรวจรับรอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพ และความปลอดภัยตลอดทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม นับเป็นโอกาสและสนับสนุน AMARC ในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต”

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 210 ล้านบาท และมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 150 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วเต็มจำนวน 420 ล้านหุ้น โดยมี บมจ.โรงพยาบาลลาดพร้าว (LPH) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือหุ้นจำนวน 291,418,500 หุ้น หรือคิดเป็น 97.14% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว โดยภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนเหลือ 69.39%

วัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ จะนำไปใช้เพื่อการจัดซื้อเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนเวียนในการประกอบธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต

“เราต้องการเป็นแล็บระดับสากล ดังนั้นเงินระดมทุนส่วนหนึ่งก็จะนำไปต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ ระดมทุนจัดซื้อเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ให้ครอบคลุมทั้งการให้บริการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ การสอบเทียบเครื่องมือ การตรวจสอบ รับรอง ตามระบบคุณภาพและมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและมีความสามารถทัดเทียมในระดับโลก”

ปัจจุบัน AMARC ขยายขอบเขตการให้บริการ และขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ในระดับภูมิภาค ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในหลากมิติ ตั้งเป้าสร้างฮับเพื่อรับ-ส่ง ตัวอย่างส่งกลับมายังแล็บกลาง

“ตอนนี้เรามีฮับอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และมีแผนที่จะจัดตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคให้ครอบคลุมทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

IPO-‘AMARC

โอกาสการเติบโตไปกับ AMARC 

ปัจจุบันธุรกิจการให้บริการทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการจำนวนน้อยราย แต่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งด้านราคาและคุณภาพของการให้บริการ ซึ่งคู่แข่งของบริษัทมีทั้งห้องปฏิบัติการของภาครัฐ และบริษัทต่างประเทศที่มีขนาดของธุรกิจใหญ่กว่าบริษัท อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการแต่ละรายมีขอบเขตธุรกิจและการให้บริการไม่เหมือนกัน อาจมีความทับซ้อนกับบริษัทที่เน้นในกลุ่มธุรกิจเกษตรอาหารเพียงบางส่วนเท่านั้น

“คู่แข่งหลักๆ คือแล็บต่างชาติ เช่น แล็บจาก ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ซึ่งมักให้บริการสำหรับสินค้าที่จะส่งไปยังประเทศนั้นๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะส่งตรวจกับแล็บของประเทศที่จะส่งออก หรือส่งตรวจที่ AMARC ก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน”

นอกจากนั้น การเติบโตด้านการส่งออกซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณชีพขยับขึ้นต่อเนื่อง เทียบข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 มูลค่าอยู่ที่ 23,699.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 738,135.34 ล้านบาท ขยายตัว 43.82% ถือว่าเป็น New High ในรอบ 11 ปี โดยสินค้าที่ขยายตัวสูงอันดับหนึ่งคือ อาหาร และสินค้าการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ ทั้งสด แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูป

“ภาคเกษตรเติบโตก็มีส่วนอย่างมาก เมื่อผลผลิตเยอะขึ้นก็ต้องมีการส่งตรวจมากขึ้น หรือบางแห่งมีจำนวนโรงเรือนมาก ใช้น้ำและปุ๋ยต่างกันในแต่ละโรงเรือนก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องส่งตรวจทุกโรงเรือน อย่างในกรณีที่แต่ละโรงเรือนต้องส่งออกไปหลายประเทศ ก็ต้องตรวจตามมาตรฐานที่ประเทศนั้นๆ กำหนด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกกับธุรกิจของเรา”

“ที่สำคัญในตลาดหลักทรัพย์ เราไม่มีคู่แข่งที่เป็นบริษัทเอกชนของคนไทย จะมีก็แค่บริษัทของต่างประเทศซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด เรื่องราคาก็แข่งขันได้เพราะเป็นเอกชนไทย และให้บริการได้ครอบคลุมกว่ารายอื่นๆ ในตลาด ในขณะที่กลุ่มลูกค้าของเรามีอยู่ทุกที่ เพราะอาหารคือปัจจัยสี่ และความปลอดภัยคือเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์ และมีเรื่องของข้อกำหนดกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราตั้งเป้าเติบโตปี 2565-2666 หลังเปิดระดมทุนจะเติบโตเพิ่มขึ้น 20%”

หลักทรัพย์ AMARC (เอมาร์ค) น่าจะแตะตานักลงทุนลักษณะไหน

ดร.ชินดนัยมองว่าธุรกิจของ AMARC อาจไม่เติบโตหวือหวาแต่ก็เติบโตต่อเนื่อง ใครที่ชอบความตื่นเต้น เล่นหุ้นหวือหวาอาจไม่เหมาะ แต่น่าจะตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาหุ้น Growth Stock ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและรวดเร็วกว่าหุ้นตัวอื่นๆ โดยครอบคลุมตั้งแต่การเติบโตของสินทรัพย์ รายได้ และกำไรของบริษัท ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุญาตให้เสนอขายหุ้นออกใหม่ต่อประชาชน และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวนของ AMARC ที่ยื่นขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทในครั้งนี้

โดย AMARC กำหนดเปิดให้จองซื้อในวันที่ 5-7 ตุลาคมนี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 19 ตุลาคม 2565

หากท่านสนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ AMARC

ที่มาข้อมูล https://bit.ly/3CE1JV9 (07.10.2022)