อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตที่เราไม่สามารถขาดได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องเข้าสู่ร่างกายทุกวันเราจึงยิ่งตระหนักถึงสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ การกินอาหารให้หลากหลายเพื่อลดการสะสมของสารพิษ และการกินอาหารที่ปรุงสุกเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ที่มากับของดิบ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่เรากินกันเป็นประจำเพื่อรับโปรตีนเข้าสู่ร่างกาย ทั้ง ปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว
บางท่านอาจเคยสงสัยว่า ทำไมเราเคยเห็นร้านสเต๊กที่มีการสั่งระดับความสุกของเนื้อวัวได้ ทั้งสุกมากอย่างระดับ Well Done หรือกึ่งสุกกึ่งดิบอย่าง Medium Rare แต่กลับไม่ค่อยเห็นเนื้อหมูระดับ Medium Rare ? (เนื่องจากมีผู้ขายเนื้อหมูกึ่งสุกกึ่งดิบจริงๆ ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพเพราะเราไม่มั่นใจในความสุกที่ผู้ปรุงเตรียมมา) รวมถึงเนื้อไก่ดิบก็เคยโดนเททิ้งกลางรายการทำอาหารชื่อดังมาแล้วเพราะมันเป็นอันตรายต่อคนกินจนถึงชีวิตได้ ซึ่งเนื้อสัตว์แต่ละชนิดที่ถูกนำมาทำอาหาร ล้วนมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรคก่อนที่จะมาถึงครัวของเรา มันเลยเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากที่จะต้องรู้จักว่ามีเชื้อโรคอะไร และอยู่ในเนื้อสัตว์ชนิดไหนบ้าง
ทำไมเราถึงกิน เนื้อหมูดิบ ไม่ได้?
เนื้อหมู เป็นเนื้อสัตว์ยอดนิยมทั้งสำหรับเรา และเชื้อโรคก็เช่นกัน โดยเชื้อก่อโรคที่พบได้ในหมูมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยโรคและเชื้อโรคที่พบได้ในหมูมีทั้ง โรคท็อกโซพลาสโมซิสที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii, โรคทริคิโนซิสเป็นโรคที่ติดต่อที่เกิดจากพยาธิชื่อว่า Trichinella spiralis รวมถึงเชื้ออีกมากมาย เช่น Escherichia coli, Salmonella spp., Staphylococcus aureus, Yersinia enterocolitica, และ Listeria monocytogenes ซึ่งอีกอย่างที่เป็นอันตรายและพบได้บ่อยคือ พยาธิตืดหมู หรือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะตัวอ่อน (Cysticercus cellulosae) ของพยาธิตัวตืด ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีสิ่งที่ขนาดและหน้าตาคล้ายกับ “เม็ดสาคู” อยู่บนกล้ามเนื้อของหมู ซึ่งถ้าหากกินเนื้อหมูดิบที่มีตัวอ่อนพยาธิ มันก็จะไปโตเป็นตัวเต็มวัยได้ในลำไส้เล็ก เพื่อคอยแย่งอาหาร ทำให้เกิดอาการหิวบ่อย กินเยอะ แต่ร่างกายผอม อ่อนเพลีย ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่สบายท้อง และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย รวมไปถึงนอนไม่หลับหรือเวียนหัวได้ ซึ่งหากมีอาการหนักมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิต
เชื้อโรคของเนื้อหมูดิบ อีกชนิดที่อันตรายและพบได้ในเนื้อหมู นั่นก็คือ Streptococcus suis ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ปกติฝังอยู่ในต่อมทอนซิลอยู่ในหมูเกือบทุกตัว และเมื่อกินหมูที่ไม่ผ่านการปรุงสุกมา อาจก่อให้เกิดโรคไข้หูดับ ที่ช่วงแรก ๆ จะทำให้เกิดอาการปวดหัว เวียนหัว ปวดตามข้อ และมีไข้ขึ้นสูง ต่อมาเมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองและกระแสเลือด จะทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ หูตึง และอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ แต่เชื้อจะตายได้เมื่อผ่านความร้อน 70 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 10 นาที (ดังที่กล่าวไปข้างต้นเรื่องเนื้อหมูระดับสุกใน Medium Rare)
ปัจจุบันในประเทศไทย มีทั้งฟาร์มแบบบ้าน และมีฟาร์มที่เลี้ยงหมูในระบบปิดที่เรียกว่าระบบอีแวป (EVAP) ที่ย่อมาจาก Evaporative Cooling System ซึ่งใช้หลักการทำงานของเครื่องดูดไอความชื้นในอากาศของระบบปิด พร้อมทั้งดูดความร้อนแฝงที่ตามไปกับไอน้ำ ทำให้พื้นที่ในระบบปิดมีอุณหภูมิลดลง เย็นสบาย เหมาะแก่การอยู่อาศัยของหมูในพื้นที่ปิด ซึ่งข้อดีของระบบนี้คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณฟาร์ม และส่งผลดีต่อคุณภาพของหมูด้วย เพราะการเลี้ยงระบบปิดจะช่วยลดความเครียดที่เกิดจากความร้อน ซึ่งทำให้หมูสุขภาพดีขึ้น ช่วยลดอัตราการเกิดโรคและอัตราการตายของหมูลงได้
การเลี้ยงไว้ในระบบเปิด อาจเป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่านั้นซักเล็กน้อย แต่หากเราเลี้ยงดูหมูของเราดี ให้อาหารที่ถูกสุขลักษณะและถูกสุขอนามัย ก็ทำให้ฟาร์มแบบบ้านมีประสิทธิภาพเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่จะป้องกันเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดจากหมูดิบได้ดีที่สุด นั่นคือการนำไปปรุงให้สุกก่อนกิน
อันตรายของเนื้อไก่ดิบ
ทั้งนี้ทั้งไข่และไก่ก็ไม่ควรกินดิบทั้งคู่ เพราะเชื้อโรคอาจแฝงมากับเนื้อสัตว์ที่อยู่ในระบบการเลี้ยงดูที่ไม่ดี อาจทำอันตรายกับผู้ทานได้ เพราะเนื้อไก่ดิบ และไข่ดิบ มีเชื้อโรคที่สามารถพบได้หลายชนิด เช่น Campylobacter jejuni, Clostridium perfringens, Staphylococcus aureus, Listeria monocytogenes, Escherichia coli และที่อาจคุ้นเคยกันมากที่สุดคือ Salmonella spp.
เชื้อแซลโมเนลลา (Salmonella spp.) เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างแบบท่อน ถูกค้นพบโดย ดร.แดเนียล เอลเมอร์ แซลมอน (Dr. Daniel Elmer Salmon) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน โดยเชื้อชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย และมีไข้ ซึ่งอาการอาจจะเป็นอยู่ประมาณสองวันและค่อยๆ หายไปในหนึ่งสัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เชื้ออาจจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น โดยที่โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อแซลโมเนลลามีทั้ง ภาวะขาดน้ำ ที่เกิดจากการสูญเสียน้ำในร่างกายปริมาณมาก อาจทำให้ ปากแห้ง ตาแห้ง ปัสสาวะน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาวะเลือดเป็นพิษ เกิดจากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และเดินทางไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อาจทำให้มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือกระดูกอักเสบได้
เชื้อแซลโมเนลลานั้นก่อให้เกิดอาการต่างๆ และทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งวิธีป้องกันการติดเชื้อชนิดนี้จากการกินไก่ดิบหรือไข่ดิบ ควรปรุงเนื้อไก่ให้สุกก่อนที่จะกิน รวมถึงไข่ด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้มั่นใจว่าเชื้อโรคนั้นตายแล้วจริงๆ ซึ่งไก่1ชิ้นนั้นต้องใช้ความร้อนถึงหรือสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส ในเวลาไม่น้อยกว่า 5 นาที เป็นการทำลายเชื้อโรคที่ติดมากับไก่และไข่ดิบนั่นเอง แต่อย่าพึ่งแปลกใจหากหลายครั้งที่เรามักเห็นอาหารต่างๆ ใช้ไข่ดิบในการประกอบอาหาร เช่น ราดอยู่บนข้าวในอาหารญี่ปุ่น หรือใช้เป็นน้ำจิ้มสำหรับปิ้งย่าง ซึ่งความจริงแล้ว ในประเทศไทยมีบางฟาร์มที่ได้รับการรับรองว่าสามารถผลิตไข่ที่ผู้บริโภคสามารถทานดิบได้ โดยจะมีการเลือกแม่ไก่พันธุ์ดี แข็งแรง ปราศจากเชื้อแซลโมเนลลา และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อแซลโมเนลลาให้ไก่
ส่วนไข่ไก่ทุกฟองจะถูกทำความสะอาด ส่องกล้องดูสิ่งสกปรก และตรวจหารอยร้าวที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พร้อมฆ่าเชื้อโดยการผ่านรังสียูวี และถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บไข่ไก่ที่มีอุณหภูมิเย็น 4-10 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงขนส่งด้วยรถควบคุมอุณหภูมิความเย็นเพื่อส่งไปยังร้านค้าต่างๆ ซึ่งไข่ไก่พวกนี้จะส่งไปยังสถานที่ต่างๆที่ได้รับรองจากผู้ผลิต ซึ่งหากที่เราเห็นในตลาดปัจจุบัน นั่นคือ ไข่ไก่ปลอดสาร หรือไข่ไก่ Organic นั่นเอง แต่หากเราไม่มั่นใจในการทานไข่ดิบ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือ ทานไข่ที่ปรุงสุกแล้วคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ปลาดิบ?
การนิยมทานปลาดิบนั้นอาจมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น หลายท่านคงอาจคุ้นเคยหรือคุ้นหูกับคำว่า “Sashimi” (ซาชิมิ) คำนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น และอาหารที่นำมารับประทานแบบซาชิมิส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล เช่น ปลาทะเล ปลาหมึก หอย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมทั่วโลกอย่างแพร่หลายในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ใช่ว่าปลาทุกชนิดจะทานดิบได้
คำตอบของการทานปลาดิบได้คือ ส่วนใหญ่สัตว์ทะเลสามารถรับประทานแบบดิบได้อย่างปลอดภัย (แต่ต้องมีกระบวนการในการจัดเก็บและฆ่าเชื้อโรค รวมถึงพยาธิต่างๆ ผ่านอุณหภูมิเย็นๆ ที่เหมาะสมด้วย) ส่วนปลาน้ำจืดเกือบ 100% ไม่สามารถรับประทานดิบๆได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าสัตว์ทะเลทุกชนิดหรือปลาที่มาจากทะเลทานดิบได้ หากยกตัวอย่างที่อย่างน้อยเราน่าจะพบเห็นบ่อยที่สุดคือ อะนิซาคิส (Anisakiasis) หรือคือพยาธิตัวกลมที่อาศัยอยู่ในปลาทะเลและปลาหมึกบางชนิด
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้คนเลือกรับประทานปลาดิบแทนเนื้อปลาที่ปรุงสุก บางคนอาจชอบรสสัมผัสของปลาดิบมากกว่า บางคนอาจมองว่าอร่อยกว่า หรืออาจมีหลักความเชื่อว่าการรับประทานปลาดิบนั้นจะทำให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่า หากท่านใดคิดเช่นนั้น คำตอบคือ คุณอาจคิดถูก มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ของปลาดิบไว้ ดังนี้
- เสริมสารอาหาร
การรับประทานปลาดิบบางชนิดอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากเนื้อปลาได้มากกว่า เช่น วิตามินดีธรรมชาติที่มักไม่ค่อยพบในอาหารชนิดอื่น และโอเมก้า 3ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของสมองและร่างกาย เป็นต้น เพราะมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าการนำปลาไปทอดอาจทำให้ปริมาณโอเมก้า 3 ลดลงได้ - ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
การรับประทานปลาดิบแทนปลาปรุงสุกอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ เพราะการทอดปลาหรือย่างปลาด้วยความร้อนสูงจะทำให้เกิดสารอันตรายอย่างเฮเทอโรไซคลิก เอมีน (Heterocyclic Amine) ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารชนิดนี้ในปริมาณมาก อาจทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้น - ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
เนื้อปลาบางชนิดที่คนนิยมกินเป็นปลาดิบอย่างปลาแซลมอนนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างโอเมก้า 3 ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าอาจช่วยต้านโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
งานวิจัยบางส่วนนี้เป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลอง จึงยากที่จะกล่าวได้ว่าปลาดิบจะให้คุณประโยชน์ต่างๆในทางการแพทย์และสุขภาพได้จริง อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาถึงประสิทธิผลของการบริโภคปลาดิบโดยค้นคว้าในมนุษย์เพิ่มเติมมากกว่านี้ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับประยุกต์และให้คนดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมในอนาคตต่อไป
การนำปลาดิบมาประกอบอาหารในเมนูต่าง ๆ อย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ เราควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ สะอาด และได้รับรองตามมาตรฐาน และหากต้องเลือกซื้อที่อยู่บนแผง ควรซื้อปลาดิบที่วางอยู่บนน้ำแข็งหรืออยู่ในตู้แช่เย็น พร้อมทั้งตรวจดูว่าปลาสดหรือไม่ เป็นไปได้คุณควรเลือกบริโภคปลาดิบที่ผ่านการแช่แข็งมาก่อน มันช่วยฆ่าเชื้อปรสิตต่างๆ ได้ อาจเป็นปัญหาสักเล็กน้อย เนื่องจากช่องแช่แข็งที่ใช้ในครัวเรือนปกติบ้านเราทั่วไปอาจไม่ทำให้เกิดความเย็นที่เพียงพอ เพราะมันต้องเย็นในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือการแช่แข็งปลาดิบที่อุณหภูมิ -35 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15 ชั่วโมง ถึงอาจช่วยฆ่าเชื้อปรสิตได้ ทั้งนี้หากต้องการเลือกรับประทานปลาดิบ ควรดูฟาร์มที่ได้รับการรับรองหรือ แหล่งที่ซื้อน่าเชื่อถือ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
แล้วทำไม “เนื้อวัว” ดิบทานได้?
การที่เรากิน เนื้อวัว ดิบๆได้เพราะปกติแล้วร่างกายของวัวนั้นติดเชื้อโรคได้ยากกว่าหมูและไก่ เช่น เชื้อโรคอันตรายอย่าง Streptococcus suis ที่ทำให้เกิดโรคไข้หูดับ เป็นต้น ซึ่งพบได้ยากในเนื้อวัวดิบ ดังที่เราเห็นว่าร้านสเต๊กสามารถทานกึ่งสุกกึ่งดิบได้ หรืออาหารท้องถิ่นอย่างบ้านเรา เช่น ก้อย หรืออาหารฝั่งยุโรปเช่น Tartare เป็นต้น แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่า เนื้อวัว จะไม่มีเชื้อโรค เพราะหากวัวที่ถูกชำแหละไม่ถูกวิธี จัดเก็บไม่ถูกต้อง การขนส่งไม่สะอาดปลอดภัย ก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียต่างๆได้
นอกจากนี้ ในเนื้อวัวยังพบพยาธิที่คล้ายกับตืดหมูอย่าง พยาธิตืดวัว (Taenia saginata) ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายผู้ที่กินเข้าไปเช่นกัน แต่พยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อวัวนั้นอยู่ในระยะตัวอ่อน (Cysticercus cellulosae) ที่เรียกกันว่าเม็ดสาคู ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่าย เลี่ยงได้ ต่างกับการติดเชื้อแบคทีเรียที่เรามองไม่เห็นเลยไม่ทันระวังตัว
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นเรื่องฟาร์มเลี้ยงไก่ที่รับการรับรอง วัวก็เช่นกัน โดยฟาร์มเลี้ยงสัตว์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง วัวที่มีคุณภาพดีมีมาตรฐานที่กินกึ่งสุกกึ่งดิบได้มักมาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรอง ในส่วนของ “เนื้อวัว” บางท่านอาจเคยเห็นใบ Certificate จากฟาร์มที่ได้การรับรองว่า เนื้อวัวของฟาร์มหรือร้านนั้น มีคุณภาพ ดีตามมาตรฐาน โดยใบ Certificate นี้ ได้จากฟาร์มที่ควบคุมการเลี้ยงอย่างเข้มงวด มันสามารถเช็คย้อนหลังได้ว่า น้ำหนัก เกรดเนื้อเป็นอย่างไร เกิดวันที่เท่าไหร่ พ่อชื่ออะไร แม่มาจากสายพันธุ์ไหน ผลตรวจดีเอ็นเอ และสถานภาพฟาร์มปลอดโรคที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเนื้อวัวที่มีใบเซอร์ มีข้อมูลจากแหล่งเพาะเลี้ยงให้ตรวจสอบชัดเจน พวกนี้ก็ปลอดภัยพอที่จะเอามาปรุงอาหารแบบดิบๆได้
ข้อมูลยืนยันอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญในการปรุงอาหารที่เราไม่สามารถทานเนื้อหมูและเนื้อไก่ดิบ โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ USDA ถือให้ไก่ที่ยังไม่สุกหรือหมูที่ยังไม่สุก เป็นอาหารที่ผ่านความร้อนมาไม่มากเพียงพอ ทำให้เชื้อโรคไม่ตาย หรือตายเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ในขณะที่เนื้อวัวนั้นมีความสุกในหลายระดับ
แม้ว่าที่เราเห็นจะยังมีสีแดงอมชมพูอยู่ด้านในของเนื้อวัว แต่หากอยู่ในความสุกระดับที่กำหนดแล้วแปลว่าความร้อนและระยะในการปรุงอาหารเหมาะสม ปลอดภัย และสามารถฆ่าเชื้อโรคในเนื้อวัวได้ โดย USDA ถือให้ระดับความสุกขั้นต่ำของการปรุงสุกเนื้อวัวคือระดับ Rare หรือผิวด้านนอกประมาณ 25% เป็นสีน้ำตาลจากความร้อน ส่วนเนื้อสีแดงที่ด้านในมีอยู่ประมาณ 75% ของเนื้อทั้งชิ้น ซึ่งสีแดงของเนื้อวัวนั้นเกิดจากไมโอโกลบิน (Myoglobin) ซึ่งเป็นสารสีแดงที่อยู่ในเลือดที่ยังคงวนเวียนอยู่ในกล้ามเนื้อนั่นอง
ดังรูปจะเห็นการไล่ระดับความสุกของตัวเนื้อวัวขึ้นไปเรื่อยๆ คล้ายร้านสเต๊กที่ไล่ระดับความสุกให้เราสามารถสั่งตามความต้องการของแต่ละบุคคล ซึ่งความสุกของเนื้อวัวแต่ละระดับมีดังนี้
- Rare เนื้อสีแดงจากด้านใน 75 % ไล่จนไปถึงเนื้อด้านนอกเป็นสีน้ำตาล
- Medium Rare เนื้อสีน้ำตาลจากภายนอก 50% ส่วนสีแดงอีก 50%
- Medium เนื้อส่วนสีแดง 25% ความสุกไล่จนถึงเนื้อด้านนอกเป็นสีน้ำตาล
- Medium well done เกือบสุก 100% เนื้อเป็นสีน้ำตาลเกือบทั่วชิ้น ตรงกลางยังคงมีสีชมพูเรื่อๆ ตัวเนื้อฉ่ำน้ำ ไม่แข็งกระด้าง
- Well done เนื้อสุก 100% มีความสุกทั่วชิ้น สีชมพูน้อยหรือไม่มี แต่ไม่ถึงกับแข็งกระด้าง
อร่อยและปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เนื้อทุกชนิดจะมีเชื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเป็นส่วนใหญ่ ต่อด้วยตามขั้นตอนกรรมวิธีต่างๆ เช่น ขั้นตอนการชำแหละ และการถนอมเนื้อสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ การทานอาหารแบบไม่สุก เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย เพราะว่าเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกดีย่อมมีความเสี่ยงที่จะพบเชื้อโรคมากกว่า และเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จะกลายเป็นผลเสียกับสุขภาพของเรา
สุดท้าย ทางเลือกที่ปลอดภัยจากเชื้อโรค ไม่ว่าเป็นสัตว์ชนิดไหน หากเป็นไปได้การเลือกรับประทานแบบปรุงสุกสำหรับสิ่งที่เราไม่มั่นใจนั้นเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุด การทานของสะอาด ปรุงอาหารให้สุก ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยต่อตัวเราอย่างยิ่ง และ/หรือหากต้องการทานเนื้อวัวดิบก็ให้เลือกเนื้อจากฟาร์มที่ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะอนามัย เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยต่อตัวเรา
AMARC ให้บริการตรวจวิเคราะห์เนื้อวัวหรือเนื้อโค ดังนี้
1. บริการตรวจวิเคราะห์หาสารพิษตกค้าง (Pesticide residue) เช่น กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine group), กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate group), กลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate group) และกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids group)
2. บริการตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก เช่น สารหนู (Arsenic), ตะกั่ว (Lead), ปรอททั้งหมด (Mercury) และดีบุก (Tin) เป็นต้น
3. บริการตรวจวิเคราะห์หายาสัตว์ตกค้าง เช่น
– Amoxicillin
– Chloramphenicol
– Erythromycin
– Nitrofuran (Parent Drug) มีสาร Nitrofurazone (NFZ), Nitrofurantoin (NFT), Furazolidone (FZD), Furaltadone (FTD)
– Nitrofurans (Metabolite) มีสาร Semicarbazide (SEM), 1-Aminohydantoin (AHD), 3-Amino-5-Methyl-morpholino-2-oxazolidinone (AMOZ), 3-Amino-2-oxazolidinone (AOZ)
– Tetracycline group (Chlortetracycline / Oxytetracycline/ Tetracycline)
– Sulfonamides group
4. บริการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์ เช่น จุลินทรีย์ทั้งหมด (Aerobic Plate Count), แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไนและแคมไพโลแบคเตอร์ โคไล (Campylobacter jejuni/coli), โคลิฟอร์ม (Coliform), คลอสทริเดียม เพอรฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens), อี.โคไล (Escherichia coli), เอ็นเทอโรคอคไค (Enterococci), ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes), แซลโมเนลลา (Salmonella spp.), สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), ยีสต์และรา (Yeast & Mold)
5. บริการตรวจวิเคราะห์หาพยาธิ (Parasite)
6. บริการตรวจวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อมูลโภชนาการ (Nutrition Labelling) เช่น พลังงานทั้งหมด (Total energy), โปรตีน (Protein), ใยอาหาร (Total dietary fiber), คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate), แร่ธาตุ (Mineral) และวิตามิน (Vitamin) เป็นต้น
สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC
ที่มาข้อมูล : Scoop Sanook
: Pobpad
: TrueID
: The Principia