ทำไมเราถึงดื่มน้ำ”ประปา”(ยัง)ไม่ได้?

สาเหตุใดทำไมถึงยังดื่มน้ำ “ประปา” ไม่ได้?

หากใครยังไม่ทราบ ประเทศไทยเรามีน้ำประปาใช้กันตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว โดยจุดเริ่มต้นย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชนเนื่องจากมีประชาชนเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด จึงได้ทรงประกาศตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้นและเรียกน้ำที่ผ่านกระบวนการกรองจนสะอาดแล้วว่า “ประปา” ซึ่งเป็นคำใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดขึ้นมาเอง โดยมาจากคำสันสกฤตที่ว่า “ปฺรปา” ที่แปลว่า “ที่เก็บน้ำ” ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงเปิด “การประปากรุงเทพฯ” อย่างเป็นทางการ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการประปาไทยอย่างแท้จริง

โดยปัจจุบันจากข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) ซึ่งสำรวจเพื่อออกคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไป 244 ประเทศทั่วโลก (รวมเขตปกครองพิเศษ) พบว่ามีประเทศที่น้ำ”ประปา”ได้รับการแนะนำว่าสามารถดื่มได้เพียง 56 ประเทศ ในขณะที่อีก 188 ประเทศ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยง ส่วนไทยนั้นเป็นประเทศที่ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา โดยมีระดับคุณภาพของน้ำประปาตามการสำรวจของ CDC เพียง 30%

water-going-down-sink

คำแนะนำในการดื่มน้ำให้เพียงพอแต่ละวัน คือควรดื่มน้ำอย่างน้อย “วันละ 2 ลิตร”

และหากต้องจ่ายเงินซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดบริโภคให้เพียงพอในหนึ่งวันประมาณ 2 ลิตร ตามที่สถาบันวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (The U.S. National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine) แนะนำ คนในแต่ละประเทศต้องทำงานกี่นาทีเมื่อเทียบจากค่าแรงขั้นต่ำ โดยประเทศที่นำมาเปรียบเทียบมีดังนี้ ซึ่งวัดจาก ประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ทั้งจำนวนแหล่งน้ำจืดในประเทศ, GDP ต่อหัว (GDP Per Capita PPP), ความหนาแน่นประชากร, ดัชนีการพัฒนามนุษย์ และค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient)

สำหรับประเทศไทย พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงคือ 41.31 บาท (ข้อมูลจากปี2021) หากต้องซื้อน้ำดื่มเพื่อบริโภคให้เพียงพอในหนึ่งวัน จะต้องใช้เงิน 18.70 บาท หรือ 45% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง คิดเป็นการทำงานราว 27 นาที จึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำ

ขณะที่กานา ที่มีประชากรหนาแน่นพอกับไทยและ CDC ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำประปา หากต้องซื้อน้ำดื่ม ต้องจ่าย 362.66% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง หมายความว่าชาวกานา ต้องทำงาน 3.63 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 217 นาที เพื่อให้มีเงินเพียงพอซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดที่สะอาดและคุณภาพดี

มัลดีฟส์ เป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวใกล้เคียงกับไทย มัลดีฟส์มีสภาพเป็นหมู่เกาะ รอบล้อมไปด้วยมหาสมุทร มีระบบเก็บกักน้ำฝนที่มีประสิทธิภาพ และพึ่งพาการกลั่นน้ำทะเลเป็นหลัก แต่คุณภาพน้ำประปาในมัลดีฟส์ตามการสำรวจของ CDC อยู่ที่ 19% เท่านั้น และหากต้องซื้อน้ำดื่ม ชาวมัลดีฟส์ต้องทำงาน 33.23 นาที จึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำดื่มบรรจุดขวดในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย

ไม่ไกลจากไทยเท่าใดนัก ฟิลิปปินส์ ซึ่งใกล้เคียงกับไทยเรื่องค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) หากชาวฟิลิปปินส์ต้องจ่ายเงินซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด ต้องทำงาน 45.71 นาที จึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำดื่ม 2 ลิตร

แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากรของจีน ไทยไม่อาจเทียบได้เลย แต่จีนก็ยังมีความใกล้เคียงกับไทยในด้านดัชนีการพัฒนามนุษย์ ทั้งนี้ CDC ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำประปาในจีนเช่นกัน ดังนั้น หากชาวจีนต้องการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดดื่ม ต้องทำงาน 14.35 นาที จึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำ

แล้วประเทศไหนในเอเชียที่ดื่มน้ำประปาได้บ้าง ?

ประเทศในแถบเอเชียที่สามารถดื่มน้ำ ประปา จากก๊อกได้ มีเพียงแค่ 6 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ บรูไน และอิสราเอล

ซึ่งหากพูดถึงประเทศที่ไม่อยู่ในเอเชีย โดยวัดจากประเทศที่มีความใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่หากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว น้ำประปาในประเทศนั้นก็จะสามารถดื่มได้ เช่น อิตาลี มีแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศใกล้เคียงกับไทย แต่น้ำประปาในประเทศดื่มได้ หากน้ำประปาตรงจุดไหนที่ไม่สามารถดื่มได้ จะระบุไว้ว่า ‘Acqua non potabile (น้ำไม่เหมาะสำหรับดื่ม)’ ในบางพื้นที่ของอิตาลี (เช่น ซาร์ดิเนีย หรือพื้นที่ทางใต้) อาจมีสีขุ่น รสชาติผิดเพี้ยน ชาวอิตาลีบางคนก็เลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเพื่อความปลอดภัย แต่ที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงโรม สามารถดื่มน้ำประปาได้ทั่วไป และพกขวดไปเติมได้ตลอด

water

แล้วทำไมเราถึง”ยัง”ดื่มน้ำประปาไม่ได้ ?

แม้จะมีการประชาสัมพันธ์โดยการประปานครหลวงเอง ว่าน้ำประปานั้นสะอาดและดื่มได้ มีการควบคุมคุณภาพน้ำทุกขั้นตอน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชากร แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องปรับปรุงระบบท่อ และการซ่อมท่อให้ได้มาตรฐาน เพื่อคงคุณภาพน้ำประปาปลายทาง รวมไปถึงงานวิจัย Evolution on the Quality of Bangkok Tap Water with Other Drinking Purpose Water จากการประปาเองที่ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากสองพันกว่าจุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าน้ำประปานั้นสะอาด ปลอดภัย และดื่มได้

ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำประปาหลังจากที่การประปานครหลวงสูบน้ำมาจากแหล่งน้ำดิบเรียบร้อยแล้ว จะนำน้ำมาปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้นก่อนด้วยการเติมสารเคมี เช่น สารส้ม และปูนขาว เพื่อช่วยให้มีการจับตัวของตะกอนได้ดียิ่งขึ้น แล้วส่งผ่านไปยังถังตะกอนที่ตะกอนขนาดใหญ่น้ำหนักมากจะตกลงสู่ก้นถัง เป็นการกำจัดสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ที่รวมอยู่ในตะกอนออกไป ได้แก่ ความขุ่น จุลินทรีย์ ฯลฯ ส่วนน้ำใสจะส่งผ่านไปสู่กระบวนการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อกำจัดตะกอนและจุลินทรีย์ส่วนที่ยังเหลืออยู่ในน้ำ ทำให้น้ำมีความใสมากขึ้น และในขั้นตอนสุดท้ายน้ำจะถูกนำไปผ่านขบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน เพื่อให้น้ำสะอาดสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย

แต่ปัจจัยที่ทำให้ระบบท่อนั้นเป็นที่หวั่นเกรงว่ายังคงไม่สะอาดเพียงพอ ไม่ใช่แค่ความไม่สะอาดของท่อลำเลียงเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายสาเหตุ รวมไปถึงการที่ประชาชนต้องใช้ระบบปั๊มน้ำและถังพักน้ำ อันเนื่องมาจากแรงดันน้ำต่ำ ซึ่งทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลงและอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนจนไม่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัยถึงแม้ว่าน้ำประปาต้นทางจะได้รับการการันตีว่าสะอาดปลอดภัย ดื่มได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกก็ตาม

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า CDC หรือ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา จัดให้ ประเทศไทยนั้นอยู่ในรายชื่อประเทศที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา แต่อย่างไรก็ตามมีความพยายามผลักดันโครงการน้ำ”ประปาดื่มได้ทั่วประเทศ” และส่วนโครงการแท่นน้ำประปาดื่มได้ในกรุงเทพมหานครซึ่งริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2542 นั้น โดยปัจจุบันมีแท่นน้ำประปาดื่มได้รวมแล้วประมาณ 809 จุดทั่วกรุงเทพฯ แต่ปัญหาคือแท่นน้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่เหมาะสม เช่น ริมถนน เมื่อรถวิ่งผ่านก็อาจมีเศษฝุ่นไปเกาะติดอยู่ที่ท่อน้ำ ทำให้เมื่อดื่มแล้วอาจได้รับสารปนเปื้อนเข้าไปด้วย ประชาชนเองก็ไม่แน่ใจว่ามีการตรวจเช็คแท่นน้ำประปาครั้งล่าสุดเมื่อใด

ในการบริหารจัดการเรื่องทรัพยากรน้ำ การประปานครหลวงมีการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดในชื่อ “PAPA” ขายในราคาย่อมเยาว์ ขนาด 600 ซีซีในราคา 3.75 บาท แต่หากต้องการซื้อต้องติดต่อที่การประปานครหลวงและสาขาย่อยโดยตรงเท่านั้น ยังไม่มีหน้าร้านหรือส่งขายตามห้างสรรพสินค้า ให้เป็นทางเลือกแก่ประชาชน ดังนั้นการจะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดในราคาถูกก็ยังคงเข้าถึงได้ยากเช่นเดิม

 

สรุป ทำไมเราถึง(ยัง)ดื่มไม่ได้

 

ปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ แต่โดยหลักแล้ว น้ำที่ผ่านกรรมวิธีกรองและการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้องสามารถดื่มได้
แต่ที่เรา(ยัง)ดื่มไม่ได้ เพราะการขนส่งผ่านท่อที่เก่า ความดันน้ำที่ไม่แรงพอ ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐานทุกๆ ท่อ เราจึงไม่มั่นใจว่าตอนที่น้ำประปาออกจากก๊อกจะสะอาดเหมือนตอนส่งมาหรือไม่ (CDC ชี้ข้อแน่ชัดนี้ดี)

อย่างไรแล้ว ปกติตามมาตรฐานเเรงดันน้ำประปาทั่วไปจะให้เเรงดันประมาณ 1 – 1.5 bar  หรือ 10 เมตร (เเตกต่างกันในเเต่ละพื้นที่) แรงดันขั้นต่ำจะบ่งบอกว่าน้ำที่เปิดโดยระบบประปานั้นจะสามารถพุ่งขึ้นไปในแนวตั้งได้กี่เมตร

tap water

อันเป็นค่ามาตรฐานในประเทศนั้นๆ ที่กำหนดมาเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของน้ำว่าสะอาดและดื่มได้ สำหรับประเทศไทยนั้น แรงดันอยู่ที่ประมาณ 6 เมตร โดยการพิจารณาแรงดันน้ำในเส้นท่อของการประปานครหลวง จะพิจารณาจากปริมาณความต้องการน้ำในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละพื้นที่ให้บริการ แล้วสร้างเป็น Pressure Trend Curve (ตัวเลขและสัญลักษณ์ เพื่อระบุปริมาณ (ในสิบมิลลิบาร์) ในช่วงหลายชั่วโมงที่ผ่านมา และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของความดันในช่วงเวลาเดียวกัน) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจ่ายน้ำให้มีแรงดันที่เหมาะสมตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการควบคุมแรงดันน้ำที่ตำแหน่งปลายเส้นท่อประธานต้องไม่ต่ำกว่า 6 เมตร ในขณะที่แรงดันน้ำในท่อจ่าย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับท่อบริการเข้าไปยังสถานที่ใช้น้ำ ก็จะลดลงไปตามระยะทางในการไหลของน้ำเนื่องจากการสูญเสียพลังงานในเส้นท่อ โดยสุดท้ายแล้วที่ปลายท่ออาจจะลดลงไปอีก 2-3 เมตร และอาจจะต่ำลงอีกในบางพื้นที่และในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งทำให้แรงดันน้ำประปาของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

การที่แรงดันน้ำประปาของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำ เป็นเพราะว่าต้องการลดการสูญเสียน้ำที่เกิดจากการรั่วซึมของท่อลำเลียง (อันเกิดจากคุณภาพของท่อและการติดตั้งที่ไม่เหมาะสม) เพราะการที่น้ำมีแรงดันสูงก็จะทำให้น้ำรั่วออกไปมาก หากมีแรงดันต่ำ ปริมาณน้ำที่สูญเสียจากการรั่วก็จะน้อยลง ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีปริมาณการสูญเสียน้ำจากการรั่วมากเกินไป จึงมีการกดแรงดันให้ต่ำลง

ในปี2021อัตราการสูญเสียน้ำของการประปานครหลวงอยู่ที่ประมาณ 26.76% โดยในอดีตเคยมีระดับการสูญเสียน้ำสูงถึง 40%

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะการลดแรงดันน้ำลงให้ต่ำทำให้ไม่สามารถตรวจจับสัญญาณน้ำรั่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อตรวจไม่พบ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาท่อส่งน้ำที่มีจุดรั่วได้ การประปาจึงใช้วิธีการลดแรงดันน้ำลงเพื่อให้สูญเสียน้ำจากน้ำรั่วน้อยที่สุด

ผลกระทบจากแรงดันน้ำที่ต่ำก็คือไม่สามารถรับรองคุณภาพน้ำที่จะทำให้ดื่มได้ เนื่องจากว่าไม่สามารถป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกท่อซึมเข้าสู่ภายในท่อได้ หรือแม้กระทั่งการชะล้างสิ่งสกปรกตกค้างภายในท่อด้วยแรงดันน้ำ รวมไปถึงการที่ประชาชนต้องใช้ระบบปั๊มน้ำและถังพักน้ำ อันเนื่องมาจากแรงดันน้ำต่ำ ซึ่งทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลงและอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนจนไม่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัยถึงแม้ว่าน้ำประปาต้นทางจะได้รับการการันตีว่าสะอาดปลอดภัย ดื่มได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกก็ตาม

rusty-pipes-closeup

นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีจุดจ่ายน้ำระหว่างจุด อีกทั้งยังมีโรงสูบน้ำน้อย เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีเพียงสิบกว่าโรง ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป ในประเทศที่มีการการันตีแรงดันขั้นต่ำนั้น ไม่ได้มีเฉพาะแค่โรงสูบน้ำเท่านั้น แต่ยังมีระบบบูสเตอร์ปั๊มตามจุดต่างๆ เพื่อทำให้แรงดันน้ำปลายทางสูงขึ้น แต่ไทยไม่มีระบบนี้ ในขณะที่ประเทศอังกฤษ ในพื้นที่การคำนวณเท่ากับกรุงเทพมหานคร มีบูสเตอร์ประมาณหกร้อยกว่าตัว ส่วนในประเทศไทยบูสเตอร์กลายเป็นภาระส่วนตัวของผู้ใช้น้ำประปาเอง ซึ่งก็คือการซื้อเครื่องปั๊มน้ำมาใช้ในแต่ละบ้านนั่นเอง

ปัจจุบันเราอาจจำเป็นต้องพึ่งตนเองไปก่อน โดยการเช็คความสะอาดและปลอดภัยแก่ตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งภายในอนาคตคงเหมาะสมกว่ามาก หากรัฐสามารถจัดหาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตส่วนนี้ให้แก่ประชาชนให้สามารถเข้าถึงความสะอาดถูกต้องมาตรฐาน และทั่วถึง

AMARC ให้บริการตรวจวิเคราะห์น้ำประปา 21 รายการ อ้างอิงประกาศกรมอนามัย เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พ.ศ. 2563

อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์ตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยตนเอง ดูข้อมูลเพิ่มเติม https://amarc.co.th/safe-home/

สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC

ที่มาข้อมูล : Greenery
: The Opener
: บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค
: Scoop เดลินิวส์