สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sweetener) ปลอดภัยจริงหรือไม่ ?

ทางเลือกปัจจุบันของผู้บริโภค “ ปลอดภัยจริงหรือไม่ ?

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คืออะไร ?

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sweetener) เป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่งที่ใช้เพิ่มความหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาล มีทั้งแบบให้พลังงานและไม่ให้พลังงาน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภค ในกลุ่มที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลและพลังงาน อย่างผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงในกลุ่มคนรักสุขภาพ หรือคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก

สารให้ความหวานส่วนใหญ่มักใช้ในปริมาณที่เล็กน้อย เนื่องจากให้ความหวานกว่าน้ำตาลหลายเท่า และยังช่วยลดพลังงานที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสารให้ความหวานแบ่งได้หลายประเภท แต่ที่คุ้นหูและผ่านตา หลายๆ คนบ่อยๆ จะเป็น แอสปาร์แตม,ขัณฑสกร และน้ำตาลหญ้าหวาน เป็นต้น โดยสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้ ให้ความหวานแทนน้ำตาลได้จริง แต่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคจริงหรือไม่ ?

ปัจจุบัน สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มีบทบาทเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น และผู้บริโภคก็มีจำนวนการบริโภคทางเลือกนี้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องตะหนักทำความรู้จักและความเข้าใจ ของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลให้มากขึ้น ทั้งชนิดของสาร ประโยชน์ และรวมถึงข้อจำกัดในการใช้

ชนิดของ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล”

ในปัจจุบัน สารให้ความหวานที่นิยมนำมาทดแทนน้ำตาลแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

1.สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบให้พลังงาน

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในกลุ่มนี้มักเป็น น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) หรือ โพลีออล (Polyols) เป็นสารให้ความหวานที่ยังคงให้พลังงานอยู่ แต่ให้ในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำและดูดซึมได้ช้ากว่าน้ำตาลปกติ จึงอาจช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงฉับพลันหลังจากรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ น้ำตาลแอลกอฮอล์ยังไม่ทำให้เกิดฟันผุอีกด้วย โดยทั่วไป พบได้ในวัตถุดิบธรรมชาติและสังเคราะห์ขึ้น ทั้งในอาหารและของใช้ เช่น หมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล ลูกอม ไอศกรีม แยม ยาน้ำ ยาอม ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น

ตัวอย่างของสารให้ความหวานในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ ได้แก่

  • ซอร์บิทอล (Sorbitol)
  • ไซลิทอล (Xylitol)
  • ไอโซมอลท์ (Isomalt)
  • แมนนิทอล (Mannitol)
  • มอลทิทอล (Maltitol)
  • อิริทริทอล (Erythritol)

2.สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบไม่ให้พลังงาน

น้ำตาลเทียม (Artificial Sweeteners) น้ำตาลเทียมเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่สังเคราะห์ขึ้น มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะการใช้ และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ให้ความหวานกว่าน้ำตาลหลายร้อยเท่า จึงใช้ในปริมาณที่น้อยมาก และทำให้เครื่องดื่มหรืออาหารนั้นมีพลังงานต่ำ ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์บางชนิดที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อยกว่า 0.5 กรัม คณะกรรมการอาหารและยาอาจอนุญาตให้ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ให้พลังงานหรือศูนย์แคลอรี่

ตัวอย่างของสารให้ความหวานกลุ่มน้ำตาลเทียม ได้แก่

  • แอสปาร์แตม (Aspartame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 180–200 เท่า เมื่อโดนความร้อนอาจมีรสขม และห้ามใช้ ในผู้ที่มีภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ซึ่งเป็นโรคระบบเผาผลาญชนิดหนึ่ง แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานที่มีพลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม แต่เนื่องจากมีรสหวานเลยใช้ในปริมาณที่น้อยมาก อาจเทียบเท่าพลังงานที่ได้รับเป็น 0 กิโลแคลอรี (ไม่มีพลังงาน)
  • ขัณฑสกรหรือแซคคาริน (Saccharin) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200–700 เท่า และอาจมีรสขมเล็กน้อย ใช้เป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล (Sugar Substitute) ให้รสหวานจัด และติดลิ้น บางคนอาจรู้สึกได้รสขมด้วยถ้าใช้ในปริมาณมาก สารนี้ไม่ให้พลังงาน จึงเป็นที่ใช้กันแพร่หลายในอาหารควบคุมน้ำหนักพลังงานต่ำ รวมทั้งในน้ำอัดลมและน้ำหวานต่างๆ แต่สำหรับในประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใช้ขัณฑสกรในเครื่องดื่ม
  • ซูคราโรส (Sucralose) ให้ความหวานมากกว่าน้ำ 600 เท่า มีรสชาติคล้ายน้ำตาล ใช้ปรุงในอาหารร้อนได้ และไม่มีรสขมเฝื่อน  เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งมีความหวานสูงเป็น 600 เท่าของน้ำตาลทราย ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA) ให้ใช้เป็นสารให้ความหวานทั่วไปได้ (general-purpose sweetener) ซูคราโลสมีข้อดี คือให้รสชาติที่ดี มีความใกล้เคียงกับน้ำตาล ไม่มีรสขม ใช้ได้หลากหลาย ทนความร้อนในการหุงต้มและอบ เป็นสารให้ความควานที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ปริมาณของซูคราโลส ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในคน (ADI) เท่ากับ 15 มิลลิกรัม ต่อน้าหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เนื่องจากซูคราโลสมีความหวานสูงมาก ดังนั้นจึงใช้ในปริมาณน้อยมาก จึงจำเป็นต้องหาสารประกอบอื่นมาผสมเพื่อเพิ่มปริมาณบรรจุซอง ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะมีการใช้ร่วมกับสารให้ความหวานที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า น้ำตาลอลกอฮอล์(Sugar Alcohol) หรือโพลีออล (Polyols)
  • สตีวิโอไซด์ (Stevioside) หรือน้ำตาลหญ้าหวาน (Stevia) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 150–300 เท่า ทนความร้อนได้ดี ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ประกาศอนุญาตให้มีการผลิต และจำหน่ายหญ้าหวานในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2545 เรื่อง สตีวิโอไซด์และอาหารที่มีส่วนผสมของสตีวิโอไซด์) และประกาศให้สารสกัดสติวิออลไกลโคไซด์เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2556 เรื่อง สตีวิออลไกลโคไซด์)

โดยอ้างอิงข้อมูลของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ (The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives, JECFA) ซึ่งได้ประเมินและกำหนดค่าความปลอดภัย (Acceptable Daily Intake, ADI) แล้ว แม้ว่าน้ำตาลเทียมจะไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำมาก แต่ควรรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ปลอดภัยหรือไม่ ?

จากการศึกษาในผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่เป็นอันตราย โดยผลการทดลองของกลุ่มผู้ผลิตกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่สะสมในร่างกาย ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือเป็นผลเสียต่อร่างกาย ไม่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ไม่ทำให้เกิดโรคหรือผลข้างเคียงต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ผลิตจะกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ส่งผลเสีย แต่เพื่อความปลอดภัย ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออยู่ระหว่างการรักษาโรค เพราะมีรายงานว่าการได้รับซอร์บิทอลและแมนนิทอลในปริมาณมากอาจทำให้ท้องอืดและท้องเสียได้ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินอาจทำให้เกิดผลเสียได้

ในแง่ของผู้บริโภค แน่นอนว่าอาหารหรือเครื่องดื่มพลังงานต่ำจากการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล อาจดีกว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปกติในปริมาณที่เท่ากัน แต่ด้วยข้อดีนี้ก็อาจส่งผลเสียต่อพฤติกรรมการรับประทานในระยะยาวได้ อย่างเช่น การกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากรับประทานบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพบางอย่างที่การศึกษายังไม่ค้นพบก็ได้

นอกจากนี้ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจไม่ได้ให้รสชาติเหมือนกับน้ำตาลเสมอไป บางชนิดเมื่อเจอกับความร้อนอาจมีรสขมเฝื่อน และให้รสที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์บางอย่างมีการผสมของสารให้ความหวานหลายชนิด จึงควรศึกษาข้อมูลและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นก่อนเลือกซื้อและรับประทาน รวมทั้งการเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ให้เหมาะกับอาหารที่จะปรุง เพื่อหลีกเลี่ยงรสชาติที่ไม่พึงประสงค์

กระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า ในแต่ละวันผู้ใหญ่ควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัมหรือเทียบเท่า 6 ช้อนชา เด็กและผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 16 กรัมหรือเทียบเท่าน้ำตาล 4 ช้อนชา สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว กำลังใช้ยา กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมอาจเปลี่ยนไปตามสภาวะร่างกาย หากเป็นผู้ที่ชื่นชอบรับประทานของหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ควรจำกัดการได้รับน้ำตาลในแต่ละวัน เลือกใช้สารให้ความหวานพลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะการบริโภคน้ำตาลมากเกินอาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังได้หลายโรค

สุดท้ายนี้ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นเพียงตัวเลือกที่อาจช่วยให้การควบคุมน้ำตาลและพลังงานทำได้ง่ายขึ้น แต่หากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในแต่ละวันได้ด้วยตนเอง วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

กระทรวงสาธารณะสุขได้ออกประกาศ ประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัตถุเจือปนอาหารใหม่ ฉบับที่ 444 พ.ศ 2566 ซึ่งในประกาศฉบับดังกล่าว มีการยกเลิกและปรับการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งรวมถึงกลุ่มวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sweetener) แทนประกาศกระทรวงฉบับเดิมคือ ฉบับที่ 418 พ.ศ. 2563  นอกจากนี้ ยังได้ออกประกาศกระทรวง ฉบับที่ 445 พ.ศ. 2566 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ซึ่งมีการปรับแก้จากประกาศฏระทรวง ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541  โดยหนึ่งในการปรับแก้คือการคำนวณฉลากโภชนาการ กรณีที่มีการเติมน้ำตาลแอลกอฮอล์ให้นำมาใช้ในการคำนวณค่าพลังงานด้วย

การให้บริการของ AMARC

AMARC สามารถให้บริการทดสอบหาน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) เพี่อหาปริมาณ และเพื่อใช้ประกอบการจัดทำฉลากโภชนาการตามประกาศกระทรวงฉบับใหม่ และให้บริการทดสอบสารให้ความหวานกลุ่มน้ำตาลเทียม เว้นสตีวิโอไซด์ ได้ ในเครื่องดื่ม ลูกกวาด ลูกอม ช็อกโกแลต ธัญชาติ และผลิตภัณฑ์จากธัญชาติ ผลิตภัณฑ์จากผัก และผลไม้ ด้วยเครื่อง UPLC-ELSD/HPLC-UV ซึ่งเป็นวิธีทดสอบที่มีความจำเพาะ แม่นยำ

ระยะเวลาให้บริการ 5-7 วันทำการ

ปริมาณตัวอย่าง 500 กรัม

 

สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC

ที่มาข้อมูล : บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน)
: ประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 444 พ.ศ. 2566 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 3)
: ประกาศ กระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 445 พ.ศ. 2566 เรื่อง ฉลากโภชนาการ
: https://www.pobpad.com
: https://www.samh.co.th/blog/sweetener/