ไมโครพลาสติก ภัยเงียบในห่วงโซ่อาหาร

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อพลาสติกที่เราทิ้งไป กลับกลายมาเป็นอาหาร !!

จากผลการวิจัยหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติ สู่วงจรบริโภคอาหาร พบว่า ในแต่ละสัปดาห์ เราอาจบริโภค Microplastic (ไมโครพลาสติก) เข้าสู่ร่างกายปริมาณมากถึง 5 กรัม หรือเท่ากับการกินบัตรเครดิต 1 ใบ !!

ในปี พ.ศ.2563 งานศึกษาโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในออสเตรเลีย ทำการวิจัยหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์ พบว่า เราอาจบริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย มากกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 5 กรัมต่อสัปดาห์ เทียบเท่าบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็น 20 กรัมต่อเดือน หรือ 240 กรัมต่อปี

การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เกิดการศึกษาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจ และค้นหาความจริงถึงผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อร่างกายและสุขภาพของเรา

แล้วห่วงโซ่ (ไมโครพลาสติก) กลายมาเป็นอาหารของเราได้อย่างไร ?

อธิบายโดยง่ายคือ เมื่อเราทิ้งขยะพลาสติกที่ไม่ถูกจัดการอย่างถูกวิธี ขยะเหล่านั้นจะไหลลงทะเลมากถึง 12 ล้านตันต่อปี (ข้อมูลวันที่ 26 กรกฎาคม 2023) ซึ่งมีเพียงร้อยละ 5 ที่พบเห็นเป็นชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเล ส่วนที่เหลือมักจม หรือล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ซึ่งขยะพลาสติกบางชิ้นอาจจะใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี แต่บางชนิดอาจย่อยสลายจนกลายเป็น “ไมโครพลาสติก” จากกระบวนการตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากแดด คลื่น ลม และเมื่อแพลงตอนกินไมโครพลาสติก ที่ดันมีหน้าตาเหมือนอาหารของมันเข้าไป แล้วสัตว์ทะเลต่างๆ ก็มากินแพลงตอนอีกที ซึ่งในปลา 1 ตัว มีเศษไมโครพลาสติกได้มากถึง 839 ชิ้น เมื่อเราบริโภคอาหารทะเลเหล่านี้เข้าไป ไมโครพลาสติกจึงวนกลับมาสู่ร่างกายเราในที่สุด

ถึงยังไม่มีผลการวิจัยรองรับที่แน่ชัด ว่าไมโครพลาสติกส่งผลต่อคนที่เผลอกินเข้าไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ มันได้ล่องลอยปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลที่เราชอบกิน หรืออยู่ในน้ำประปา และอาจอยู่ในร่างกายของเราแล้วเรียบร้อย แถมยังมีคุณสมบัติอันตราย เพราะดูดซับสารเคมี และโลหะหนักเอาไว้ ใครจะสบายใจได้หากรู้ว่ากำลังกินพวกมันเข้าไปสัปดาห์ละตั้ง 5 กรัม

หากสามารถลดต้นเหตุการสร้างไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทางเท่าที่ทำได้ ไปจนถึงการคัดแยก จัดเก็บขยะแต่ละประเภท ก่อนเข้าสู่ระบบให้เหมาะสม โอกาสที่ขยะพลาสติกจะถูกทิ้งไหลลงไปลอยอยู่ในทะเล แล้วกลายร่างเป็นไมโครพลาสติกที่แสนอันตราย ก็จะน้อยลงไปด้วยในปัจจุบัน ไมโครพลาสติกได้กลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากขนาดที่เล็กมาก ยากต่อการเก็บและกำจัด รวมถึงการย่อยสลายก็ยากตามไปด้วย เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ไมโครพลาสติกจึงสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย การแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม พบได้ทั้งในน้ำจืด ตะกอนดิน และในทะเล หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินไมโครพลาสติกเข้าไป จะทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต

ทำความรู้จัก Microplastics เพิ่มเติม   

ไมโครพลาสติก (Microplastics) หมายถึง พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มาจากการสลายของพลาสติกต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกได้เป็น  2 ประเภท ได้แก่

1.ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary Microplastics) เป็นไมโครพลาสติกที่ผลิตขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น เม็ดพลาสติกที่เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น ไมโครบีดส์ในโฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง สครับขัดผิว โฟมล้างหน้า ครีมขัดผิว ครีมอาบน้ำ ที่มีส่วนผสมของเม็ดบีดส์ ยาสีฟัน รวมไปถึงเส้นใยสังเคราะห์ ไมโครไฟเบอร์จากผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไมโครพลาสติกประเภทนี้ สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำ ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล

2.ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary Microplastics) เป็นไมโครพลาสติกที่เกิดการย่อยสลายของพลาสติกขนาดใหญ่และสารเติมแต่งด้วยแสงอาทิตย์ กระบวนการทางเคมี ทางชีวภาพ และกายภาพ จนกลายเป็นชิ้นส่วน (Fragment) เส้นใย (Fiber) หรือแผ่นฟิล์ม (Film) ของพลาสติกที่มีขนาดเล็กลง กระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่จนกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กนี้ สามารถเกิดได้ทั้งโดยกระบวนการย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological degradation) และกระบวนการย่อยสลายด้วยแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสีอัลตราไวโอเลต (UV Degradation) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล

ไมโครพลาสติก มหันตภัยขนาดจิ๋ว 

อย่างที่กล่าวข้างต้น ปัจจุบันขยะพลาสติกจำนวนมากถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ถูกปล่อยทิ้ง และพัดลงสู่ทะเลจนส่งผลส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเล โดยเฉพาะไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบเนื้อเยื่อของสัตว์ทะเล ทำให้เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล อีกทั้งยังค้นพบว่า มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในกระเพาะของปลาทู ซึ่งคนนิยมบริโภคกันเป็นประจำ เมื่อเรารับประทานปลาทูเข้าไป จึงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

กลุ่มอาหารใดบ้างที่อาจมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติ จะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร โดยสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร เช่น กุ้ง ปู ปลา หอย  ที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป จากนั้นสัตว์น้ำก็ถูกกินโดยสัตว์อื่นๆ อีกที เช่น นก มนุษย์ ทำให้ไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปสะสมอยู่ในตัวสัตว์และมนุษย์ เนื่องจากไมโครพลาสติกไม่สามารถย่อยได้ในระบบย่อยอาหาร จึงไปสะสมอยู่ในสัตว์หรือคนที่กินเข้าไปโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง

ผลกระทบของ ไมโครพลาสติก ที่มีต่อสุขภาพ

มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ที่กินเม็ดไมโครพลาสติกเข้าไป เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือดและมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ อีกทั้ง ยังมีรายงานเกี่ยวกับสารที่เป็นองค์ประกอบ ว่าพบการปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติก โดยสารปนเปื้นดังกล่าวที่พบได้บ่อย มักเป็นสารในกลุ่มพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs), พอลิคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs), ดีดีที (DDT) และไดออกซิน ซึ่งเป็นสารปนเปื้อนก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และอาจทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้

จนถึงตอนนี้ ยังคงไม่มีรายงานว่า ไมโครพลาสติกก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง จากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศว่าไมโครพลาสติกที่รับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะถูกขับออกผ่านการขับถ่ายได้ ปัจจุบันยังไม่พบอันตราย และยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แต่หากไมโครพลาสติกถูกขับออกไม่หมดและมีระดับที่เล็กลง ก็อาจคาดการณ์ได้ว่าไมโครพลาสติกสามารถส่งผลต่อมนุษย์ได้หลายประการในระยะยาว ดังต่อไปนี้

  • รบกวนฮอร์โมนในร่างกาย ไมโครพลาสติกมีสารที่เรียกว่า Bisphenol A (BPA) เป็นส่วนประกอบของพลาสติก BPA อาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ซึ่งมีผลกระทบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ ทั้งยังอาจมีส่วนทำให้ฮอร์โมนเพศชายมีการเปลี่ยนแปลงได้ มีผลกระทบถึงการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย
  • เด็กมีพัฒนาการลดลง สาร BPA มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ทำให้ความจำ และการทำงานของระบบประสาทลดลง
  • ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เนื่องจากหลายคนอาจรับไมโครพลาสติกเข้าไปมากกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปีจากการกินอาหารทะเล และดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กเท่าแบคทีเรียอาจเข้าสู่กระแสเลือดและปิดกั้นทางเดินเลือดได้ในที่สุด
  • อาจเกิดโรคมะเร็ง หากไมโครพลาสติกฝังเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกาย อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะไมโครพลาสติกอาจปล่อยพิษหรือโลหะหนักที่ติดจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เนื้อเยื่อ
  • เป็นตัวกลางนำสารพิษ ไมโครพลาสติกมีคุณสมบัติที่สามารถดูดซับหรืออุ้มน้ำได้ จึงสามารถเก็บเอาสารพิษบางประเภท เช่น สารพิษในยาฆ่าแมลง  หรือในน้ำ เพราะเมื่อไมโครพลาสติกยิ่งอยู่ในทะเลนาน ก็จะยิ่งดูดซับความเป็นพิษเอาไว้ ส่วนสัตว์เล็กในทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป ก็จะรับสารพิษนั้นเอาไว้ด้วย เมื่อคนนำมากินก็จะได้รับสารพิษตกค้างจากสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน

“ไมโครพลาสติก” จึงเป็นภัยเงียบ ที่เราต้องตระหนักและหาทางป้องกัน โดยเฉพาะป้องกันไม่ให้มีการทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล โดยการลดการเกิดขยะพลาสติก โดยเริ่มต้นได้ง่ายๆ ที่ตัวเรา เช่น ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่อย่างถูกวิธี

AMARC บริการตรวจวิเคราะห์ไมโครพลาสติก   

บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMARC) ให้บริการตรวจวิเคราะห์ไมโครพลาสติกในสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร เช่น ปลา กุ้ง หอย ปู เป็นต้น และไมโครพลาสติกในน้ำและในตะกอนดิน

การพัฒนางานด้านการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง

นอกจากวิเคราะห์ไมโครพลาสติกในสัตว์น้ำที่เป็นอาหารแล้ว AMARC ยังพัฒนาวิธีวิเคราะห์ไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม อาทิไมโครพลาสติกในน้ำและในตะกอนดิน

AMARC ให้ความสำคัญ และใส่ใจในการตรวจวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม จึงมีความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะพัฒนาวิเคราะห์ไมโครพลาสติกในอากาศ เพื่อให้ครอบคลุมการตรวจวิเคราะห์ไมโครพลาสติกทั้งหมดทุกประเภทในอนาคตอีกด้วย

สามารถสอบถามข้อมูลบริการเพิ่มเติมได้ที่ AMARC

ที่มาข้อมูล : บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน)

https://bit.ly/3Nt4QU6  (สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม)

https://shorturl.asia/DI2LC (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ)

https://shorturl.asia/BytJU สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่